หลายคนคงจะรู้ข่าวที่ค่า FT (ค่าเอฟที) ถูกปรับให้สูงขึ้น ส่งผลให้ค่าไฟขึ้นตามไปด้วยโดยปริยาย ซึ่งบิลค่าไฟฟ้าที่ทางการไฟฟ้าเรียกเก็บจากผู้ใช้งาน ไม่ได้มีเพียงปริมาณการใช้ไฟฟ้าของเราเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นด้วย เช่น ค่า FT นั่นเอง วันนี้ทางเซฟไทยเลยจะพาทุกคนไปดูกันว่าในบิลค่าไฟนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง พร้อมรู้จักกับค่า FT ว่าคำนวณจากอะไร และมีความสำคัญอย่างไร
บิลค่าไฟฟ้า 1 ใบ ประกอบด้วยอะไรบ้าง?
ค่าไฟที่เราต้องจ่ายกันอยู่ทุกเดือนตามที่บิลแสดงนั้น เคยสังเกตกันไหมว่ามันประกอบด้วยอะไรบ้าง ซึ่งหลัก ๆ แล้วมีอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน คือ
-
ข้อมูลทั่วไปของผู้ใช้ไฟฟ้า
ส่วนนี้จะเป็นข้อมูลของผู้ใช้ไฟฟ้า ประกอบด้วย ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ หมายเลขผู้ใช้ไฟฟ้า วันและเวลาที่วัดหน่วยไฟฟ้า และบอกว่าบิลนี้เป็นของเดือนไหน
-
ข้อมูลประวัติการใช้ไฟฟ้า
ส่วนถัดมาจะแสดงข้อมูลการใช้ไฟฟ้าว่าเลขที่วัดได้จากครั้งก่อน – หลังได้เท่าไหร่ จำนวนหน่วยไฟฟ้าที่เราใช้ไปในเดือนนั้น ๆ เท่ากับเท่าไหร่
-
รายละเอียดค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บ
ค่าพลังงานไฟฟ้า – หรือค่าไฟฟ้าฐาน ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง สายจำหน่าย และค่าการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะคำนวณตามประเภทผู้ใช้งาน ดังนี้
ประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย
ประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก
ประเภทที่ 3 กิจการขนาดกลาง
ประเภทที่ 4 กิจการขนาดใหญ่
ประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง
ประเภทที่ 6 องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร
ประเภทที่ 7 กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร
ประเภทที่ 8 ไฟฟ้าชั่วคราว
ค่าบริการรายเดือน – ค่าใช้จ่ายในการจดหน่วยไฟฟ้า ค่าจัดทำและจัดส่งบิลค่าไฟฟ้า การรับชำระเงินค่าไฟฟ้า และงานบริการลูกค้า โดยมีการเรียกเก็บมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2543
ค่า FT – ปัจจุบันย่อมาจาก ‘Fuel Adjustment Charge (at the given time)’ เป็นต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า (น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา ก๊าซธรรมชาติ ลิกไนต์) รวมไปถึงค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนหรือประเทศเพื่อนบ้าน และค่าใช้จ่ายที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ มีการปรับทุก 4 เดือน เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของต้นทุน โปร่งใสกับผู้ใช้ไฟฟ้า ส่งผลให้ค่าไฟขยับเพิ่ม-ลดตามค่า FT นั่นเอง
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% – เรียกเก็บตามที่กฎหมายกำหนด
โดยค่า FT หรือค่าไฟฟ้าผันแปรจะมีการเก็บข้อมูลและปรับทุก 4 เดือน ซึ่งจะคำนวณจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเชื้อเพลิงที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าและค่าความพร้อมจ่าย
- ค่าเชื้อเพลิง แปรผันตามสถานการณ์ เนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพาอาศัยเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ จึงส่งผลให้ค่าเชื้อเพลิงที่นำเข้ามานั้นไม่คงที่ สรุปง่าย ๆ ก็คือ ค่า FT จะเปลี่ยนแปลงมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับค่าเชื้อเพลิงนั่นเอง
- ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment: AP) เป็นค่าของการสำรองไฟฟ้า โดยเกิดจากการคาดการณ์ว่าเราจะใช้ไฟฟ้ากี่เมกะวัตต์ (MW) คำนวณจากประวัติการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย ซึ่งเคยมียอดใช้สูงสุด (Peak) อยู่ที่ 24,050 MW แต่กำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศนั้นมีค่าความแตกต่างอยู่ 22,046 MW แต่โดยปกติแล้วการสำรองไฟฟ้าจะสำรองไว้มากกว่าความต้องการสูงสุดที่ 15% และการสำรองไฟฟ้าที่มากเกินไปแต่ไม่ได้ใช้จริงตรงนี้แหละคือค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจากการไม่ได้ใช้ไฟฟ้า (Take or Pay) ที่จะถูกเรียกเก็บมาในบิลค่าไฟด้วย ถึงแม้จะไม่มีการจ่ายไฟฟ้าจริงก็ตาม
สถานการณ์สมมติ
พ่อ : อยากติดแผงโซลาร์เซลล์ที่บ้านจัง น่าจะช่วยประหยัดค่าไฟไปได้เยอะ
แม่ : ติดเลยสิพ่อ น่าจะได้ใช้อยู่นะ บ้านเราใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเยอะอยู่
– หลังจากติดโซลาร์เซลล์ไปแล้ว 3 เดือน –
พ่อ : เอ๊ะ! ทำไมค่าไฟก็เท่าเดิมเลยนะ ทั้งที่ติดโซลาร์เซลล์ไปแล้วนี่
แม่ : ก็เพราะว่าช่วงนี้เราอยู่บ้านแค่ช่วงกลางคืนไง เลยไม่ได้ใช้พลังงานจากมันเลย ไว้ช่วงไหนอยู่บ้านตอนกลางวันคงจะได้ใช้แหละ
สรุป – เป็นการคาดการณ์ว่าจะได้ใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ แต่ถึงเวลาจริงกลับไม่ได้ใช้ ซึ่งเราได้จ่ายค่าติดแผงไปแล้วนั่นเอง
ค่า FT สำคัญอย่างไร?
ค่า FT สามารถสะท้องถึงต้นทุนของเชื้อเพลิงตามสถานการณ์จริง ซึ่งจะมีการประกาศล่วงหน้าประมาณ 4 เดือน ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทราบก่อน และหลังจากนั้น 3 เดือน จะทำการดูตัวเลขของค่า FT เพื่อทบทวนพิจารณาการปรับเพิ่ม-ลดค่า FT ในรอบถัดไป โดยจะเป็นโปร่งใสเพราะมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้กำกับดูแลตรวจสอบ
ดังนั้น ค่า FT จึงเป็นตัวปรับค่าไฟฟ้าขึ้น-ลง ตามค่าเชื้อเพลิงที่แปรผันตามสถานการณ์นั่นเอง เมื่อผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างเรารู้ล่วงหน้าว่าจะมีการปรับค่า FT ในรอบ 4 เดือน ก็จะทำให้สามารถประเมินอัตราค่าไฟฟ้าได้ก่อนและวางแผนปรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าอย่างรู้คุณค่าได้เป็นอย่างดี
เซฟไทยหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคน เพราะอย่างไรก็ตาม ค่า FT ก็มีโอกาสที่จะปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าไฟขึ้นได้อีกเช่นกัน โดยพวกเรานั้นสามารถประหยัดพลังงานได้ง่าย ๆ ด้วย วิธีประหยัดไฟให้สบายกระเป๋า เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดค่าไฟ
ที่มา : PEA