• 51 Views
  • Mar 26, 2025
  • 19 mins read

ทำความรู้จักท่อร้อยสายไฟ! เลือกแบบไหนให้เหมาะกับการใช้งาน

เคยเจอปัญหาสายไฟที่พันกันยุ่งเหยิงจนยากต่อการบำรุงรักษาหรือไม่? การเลือกใช้ท่อร้อยสายไฟคือคำตอบที่ไม่ควรมองข้าม เพราะไม่เพียงแต่ช่วยจัดระเบียบสายไฟให้ดูเรียบร้อย แต่ยังเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานอีกด้วย

ท่อร้อยสายไฟ

ท่อร้อยสายไฟคืออะไร

ท่อร้อยสายไฟ (Conduit) คืออุปกรณ์ที่ใช้หุ้มสายไฟฟ้าซึ่งทำหน้าที่เสมือนเกราะป้องกันจากแรงกระแทก น้ำหรือสัตว์ฟันแทะ มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการเสียหายจากสิ่งแปลกปลอมและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ช่วยลดความเสี่ยงจากไฟฟ้าลัดวงจรและไฟฟ้าดูด นอกจากนี้ยังช่วยให้การติดตั้งสายไฟเป็นระเบียบเรียบร้อย และยืดอายุการใช้งานของสายไฟได้อีกด้วย ท่อร้อยสายไฟจึงมีความสำคัญอย่างมากในการติดตั้งระบบไฟฟ้าทั้งภายในและภายนอกอาคาร เพื่อให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

การติดตั้งท่อร้อยสายไฟเป็นกระบวนการที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพ โดยควรเลือกท่อที่มีความแข็งแรงและเหมาะสมกับสายไฟ รวมถึงมีการติดตั้งตามมาตรฐานเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจตามมา ซึ่งการติดตั้งท่อร้อยสายไฟที่นิยมมีหลัก ๆ 2 ประเภท ได้แก่

1. การติดตั้งท่อร้อยสายไฟแบบเดินลอย

การติดตั้งท่อร้อยสายไฟแบบเดินลอยจะเป็นการติดตั้งท่อที่อยู่ภายนอกผนังและสามารถเห็นท่อได้ชัดเจน ซึ่งมีจุดเด่นที่สามารถแก้ไขและบำรุงรักษาได้ง่าย แต่การเดินลอยอาจต้องคำนึงถึงตำแหน่งการวางเฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากท่อร้อยสายไฟที่อยู่นอกผนังอาจขัดขวางพื้นที่การใช้งานได้

2. การติดตั้งท่อร้อยสายไฟแบบฝังผนัง

การติดตั้งท่อร้อยสายไฟแบบฝังผนังจะเป็นการติดตั้งท่อโดยฝังเข้าไปในผนัง ทำให้มองไม่เห็นท่อและไม่กินพื้นที่ใช้สอย รวมถึงสามารถติดตั้งบล็อกไฟภายในผนังได้โดยไม่รบกวนพื้นที่ภายในห้อง อย่างไรก็ตามการติดตั้งท่อร้อยสายไฟแบบนี้ต้องวางแผนอย่างรอบคอบในขั้นตอนการออกแบบโครงสร้างอาคาร เพราะจะสามารถแก้ไขและบำรุงรักษาได้ยากกว่าแบบเดินลอย

ประเภทของท่อร้อยสายไฟ

ท่อร้อยสายไฟที่วางจำหน่ายในปัจจุบันมีหลายประเภท ซึ่งมีคุณสมบัติและการใช้งานที่แตกต่างกันไป การเลือกใช้ท่อที่เหมาะสมจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการติดตั้งและยืดอายุการใช้งานของระบบไฟฟ้า

1. ท่อร้อยสายไฟชนิดโลหะ

ท่อร้อยสายไฟ ชนิดโลหะ

ท่อร้อยสายไฟที่ผลิตจากโลหะจะมีความทนทานและใช้งานได้หลากหลาย ท่อชนิดนี้สามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภท ดังนี้

1.1 ท่อโลหะขนาดบาง (EMT – Electrical Metallic Tubing)

ท่อร้อยสายไฟ EMT เป็นท่อเหล็กเคลือบสังกะสีภายในเคลือบอีนาเมล มีขนาดตั้งแต่ ½ – 2 นิ้ว โดยจะมีมาตรฐานการระบุชนิดด้วยตัวอักษรสีเขียว เหมาะสำหรับติดตั้งแบบเดินลอยภายในอาคารหรือซ่อนในฝ้าเพดาน แต่ห้ามฝังดิน ฝังในพื้นคอนกรีต หรือในพื้นที่เสี่ยงต่อความเสียหายเด็ดขาด

1.2 ท่อโลหะขนาดกลาง (IMC – Intermediate Metal Conduit)

ท่อร้อยสายไฟ IMC เป็นท่อร้อยสายไฟที่ทำจากแผ่นเหล็กรีดหรือเหล็กกล้าเคลือบสังกะสี มีความหนากว่าท่อ EMT เล็กน้อย จึงให้ความแข็งแรงทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีกว่า มีเกลียวที่ปลายทั้งสองด้าน และมีขนาดตั้งแต่ ½ – 4 นิ้ว โดยมาตรฐานจะใช้ตัวอักษรสีส้มหรือสีแดงในการระบุชนิด ท่อร้อยสายไฟเหมาะสำหรับติดตั้งเดินลอยนอกอาคาร ฝังในผนัง หรือฝังในพื้นคอนกรีต

1.3 ท่อโลหะหนาพิเศษ (RSC – Rigid Steel Conduit)

ท่อร้อยสายไฟ RSC ผลิตจากแผ่นเหล็กรีดหรือเหล็กกล้าเคลือบสังกะสี มีความหนากว่าท่อ EMT และ IMC โดยมีเกลียวที่ปลายทั้งสองด้าน และใช้ตัวอักษรสีดำระบุชนิดและขนาด ซึ่งมีตั้งแต่ ½ – 6 นิ้ว ท่อ RSC แข็งแรงทนทาน สามารถดัดโค้งด้วยเครื่องดัดท่อ จึงเหมาะสำหรับติดตั้งเดินลอยทั้งภายในและภายนอกอาคาร ฝังผนัง หรือฝังพื้นคอนกรีต เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและป้องกันการเสียหายของสายไฟ

1.4 ท่อโลหะอ่อน (Flexible Conduit)

ท่อโลหะอ่อน เป็นท่อร้อยสายไฟที่ผลิตจากโลหะ เช่น เหล็ก กัลวาไนซ์ หรือสแตนเลส มีคุณสมบัติยืดหยุ่นและสามารถดัดโค้งได้ เหมาะสำหรับป้องกันสายไฟจากการขีดข่วนและแรงสั่นสะเทือน โดยมีขนาดตั้งแต่ ½ – 4 นิ้ว มักใช้ต่อเข้ากับอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ดวงโคมหรือมอเตอร์ อย่างไรก็ตาม ท่อร้อยสายไฟชนิดนี้มีประสิทธิภาพกันน้ำต่ำ จึงไม่เหมาะกับการติดตั้งในพื้นที่เปียกชื้นแลใช้แทนสายดิน

1.5 ท่อโลหะอ่อนกันน้ำ (Raintight Flexible Metal Conduit)

ท่อโลหะอ่อนกันน้ำเป็นท่อโลหะอ่อนที่หุ้มด้วยพลาสติก PVC เพื่อเพิ่มคุณสมบัติในการกันน้ำและความชื้น ทำให้เหมาะสำหรับติดตั้งในพื้นที่เปียกชื้น เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น โดยมีขนาดตั้งแต่ ½ – 4 นิ้ว อย่างไรก็ตาม ท่อร้อยสายไฟชนิดนี้ไม่เหมาะกับบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงหรือพื้นที่เสี่ยงเกิดสะเก็ดไฟ เนื่องจาก PVC อาจละลายได้ อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นน้อยกว่าท่อโลหะอ่อนทั่วไป

2. ท่อร้อยสายไฟชนิดพลาสติก

ท่อร้อยสายไฟ ชนิดพลาสติก

2.1 ท่อ PVC (Polyvinyl Chloride)

ท่อ PVC เป็นท่อร้อยสายไฟที่ทำจากพลาสติก PVC ซึ่งมีคุณสมบัติเด่น คือ ทนทานต่อความชื้น ไม่เป็นสนิม และไม่นำไฟฟ้า ท่อร้อยสายไฟชนิดนี้ แบ่งออกเป็น ท่อสีขาวที่มีความยืดหยุ่นสูง ดัดงอได้ง่าย และท่อสีเหลืองที่เป็นฉนวนไฟฟ้า ท่อ PVC สามารถติดตั้งได้ทั้งเดินลอยและฝังผนัง แต่ไม่ทนต่อรังสี UV และอาจเปราะแตกเองได้เมื่อสัมผัสแสงแดดเป็นเวลานาน จึงไม่เหมาะสำหรับการใช้งานกลางแจ้ง

2.2 ท่อ HDPE (High Density Polyethylene)

ท่อ HDPE เป็นท่อร้อยสายไฟที่ผลิตจากพลาสติก High Density Polyethylene ซึ่งมีคุณสมบัติแข็งแรง ยืดหยุ่นสูง และทนทานต่อเปลวไฟ มีน้ำหนักเบา ทำให้ติดตั้งง่ายและเหมาะสำหรับงานเดินสายไฟในพื้นที่ไม่เรียบ พื้นที่โล่ง ใต้ดิน หรือฝ้าอาคาร โดยสามารถเลือกใช้ได้ทั้งแบบผิวเรียบและผิวลูกฟูก อีกทั้งยังทนต่อแรงกดอัดได้ดี จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับการเดินสายไฟที่ต้องการอายุการใช้งานยาวนาน และมีขนาดตั้งแต่ 1/2 นิ้วขึ้นไป ทำให้สามารถใช้งานได้หลากหลายตามความต้องการ

2.3 ท่อ EFLEX

ท่อ EFLEX เป็นท่อร้อยสายไฟที่ทำจาก วัสดุ PA (Polyamide) หรือ PE (Polyethylene) ซึ่งมีจุดเด่นในเรื่องของความอ่อนตัว ทนทาน รองรับการโค้งงอได้ดี ไม่ลามไฟหรือไม่ติดไฟ และทนต่อรังสี UV ได้ดี เหมาะสำหรับการร้อยสายไฟฟ้าทั้งแรงต่ำและแรงสูง รวมถึงสายเคเบิ้ลและสายสัญญาณต่าง ๆ ท่อ EFLEX สามารถใช้ในงานติดตั้งทั้งภายในและภายนอกอาคาร รวมทั้งในโซล่าฟาร์มได้ด้วยเช่นกัน

 

การเลือกท่อร้อยสายไฟที่เหมาะสมและการติดตั้งอย่างถูกต้องไม่เพียงแต่ช่วยปกป้องสายไฟจากการเสียหาย แต่ยังทำให้ระบบไฟฟ้าของคุณทำงานได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าหากยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกท่อแบบไหน ให้ลองพิจารณาจากความต้องการและลักษณะพื้นที่ใช้งาน เพื่อให้ได้ท่อร้อยสายไฟที่ดีที่สุดสำหรับบ้านและอาคารของคุณ

 

ที่มา:

https://www.poonsincable.co.th/what-electrical-metallic-tubing/

https://www.pktshop.com/article/a-4525/

https://tpetrading.com/conduit/