• 201 Views
  • June 11, 2024
  • 5 mins read

ไฟรั่วไหม? เช็กเองได้

ไฟรั่วเกิดขึ้นได้กับทุกบ้าน หากมองข้ามยิ่งเป็นอันตราย เพราะอาจเป็นสาเหตุการเกิดอัคคีภัย หรือถูกไฟดูดจนถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้ ไฟรั่วยังบ่งบอกอะไรอีกหลาย ๆ อย่างภายในบ้าน เช่น บ้านเราอาจมีการเดินสายไฟที่ไม่ได้มาตรฐาน บางอุปกรณ์อาจถูกใช้งานอย่างผิดวิธี หรือถ้าใช้ถูกวิธีแล้ว อาจลืมตรวจสอบสภาพที่เสื่อมได้ตามกาลเวลาและตามอายุการใช้งาน

ไฟรั่ว

จะรู้ได้อย่างไรว่าในบ้านมีไฟรั่ว

เซฟไทยอยากให้สังเกตว่าบ้านคุณมี 4 ข้อนี้หรือไม่ ถ้าเข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่ง ขอฟันธงเลยว่ามีโอกาสไฟรั่วแน่นอน พร้อมกันนี้เซฟไทยยังมี 5 ขั้นตอนตรวจสอบไฟรั่วเบื้องต้นด้วยตัวเองมาฝากด้วย

  • ค่าไฟสูงขึ้นผิดปกติ
  • เครื่องตัดไฟทำงานบ่อย
  • ถูกดูดจากการสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้า
  • อุณหภูมิในบ้านสูงขึ้นผิดปกติ

ไฟรั่ว

เช็กไฟรั่วได้ด้วยตัวเอง

  • เช็กมิเตอร์ไฟฟ้า ขั้นตอนนี้สามารถสังเกตได้ง่าย ๆ ด้วยการปิดสวิตช์ไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด รวมถึงถอดปลั๊กที่กำลังใช้งานอยู่ ถ้าแผ่นจานโลหะในมิเตอร์ยังหมุนอยู่ล่ะก็ แสดงว่ามีไฟรั่วในบ้านแน่นอน ถึงอย่างนั้นบางครั้งไฟรั่วอันน้อยนิดก็ทำให้จานหมุนไม่เคลื่อนที่ได้ เซฟไทยจึงอยากให้ทุกคนจำตำแหน่งจานหมุนและเลขมิเตอร์เอาไว้ แล้วอีกประมาณ 1 ช.ม. หากตำแหน่งจานหมุนและเลขมิเตอร์ไม่อยู่ตำแหน่งเดิมตอนที่กลับมาดู แสดงว่าแม้จะเล็กน้อย แต่ภายในบ้านมีไฟรั่วแน่นอน
  • เช็กจุดเชื่อมต่อสายไฟ/ปลั๊กไฟ ถือเป็นการเช็กสภาพการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปในตัว ควรเริ่มเช็กจากจุดที่มีการใช้งานค่อนข้างเยอะ และถูกใช้งานเพื่อเชื่อมต่อไปยังบริเวณอื่น สังเกตหาร่องรอยความเสียหาย รอยไหม้ รอยแตก ขั้นตอนนี้ควรใช้ไขควงวัดไฟร่วมด้วย และกระทำอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ
  • เช็กสายไฟ เป็นขั้นตอนต่อเนื่องจากการเช็กจุดเชื่อมสายไฟและปลั๊กไฟ โดยเฉพาะสายไฟที่มีการใช้งานเกินกว่า 10 ปี ควรตรวจสอบเป็นอันดับแรกเลย รวมถึงเช็กตัวปลอกหุ้มยางว่ามีรอยแตก หรือรอยฉีกขาดหรือเปล่า เพราะอาจทำให้เห็นถึงลวดทองแดงข้างใน
  • เช็กตู้ไฟ/คัตเอาต์  เป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญที่ควรหมั่นตรวจเช็ก เพราะคัตเอาต์คือจุดตัดไฟยามฉุกเฉิน เรียกได้ว่าต้องมั่นใจว่าคัตเอาต์มีประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่ควรให้เกิดปัญหาหรือมีความขัดข้องใด ๆ  เพราะฉะนั้นแล้วควรเริ่มเช็กตั้งแต่ความสะอาดของตู้ไฟ มีแมลงหรือสัตว์เข้าไปทำรังหรือเปล่า สายไฟมีการขาดลอกหรือควรซ่อมแซมหรือไม่ ที่สำคัญยังสามารถปลดวงจรไฟฟ้ายามฉุกเฉินได้หรือไม่ หากรู้สึกถึงความผิดปกติควรเรียกช่างไฟฟ้ามามาแก้ไขทันที
  • เช็กอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป้นหนึ่งในขั้นตอนที่เห็นผลมากที่สุดและง่ายที่สุด นั่นคือการนำไขควงวัดไฟไปจิ้มที่เครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ พัดลม แอร์ ไมโครเวฟ โดยเฉพาะเครื่องซักผ้าและตู้เย็น ซึ่งเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการใช้งานที่ใกล้ชิดกับน้ำ ถ้าเกิดว่ามีไฟติดที่ไขควง นั่นหมายถึงอาจมีไฟรั่วจากอุปกรณ์นั้น และไม่ควรสัมผัสด้วยมือเปล่าอย่างยิ่ง

แน่นอนว่าการตรวจสอบไฟรั่วเป็นสิ่งที่ควรทำด้วยความระมัดระวัง พร้อม ๆ กันยังเป็นปัญหาที่เมื่อแก้ไขถูกจุด ความปลอดภัยของตัวเราและตัวบ้านก็จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างชวนให้หายห่วง หากต้องการคำแนะนำหรือปรึกษาแก้ไขไฟฟ้ารั่ว ติดต่อ PEA Contact Center 1129 และควรติดต่อช่างไฟฟ้าให้เข้ามาติดตั้งสายดินเมื่อพบปัญหานี้

ที่มา