• 3,121 Views
  • May 29, 2023
  • 2 mins read

ไขข้อสงสัยไฟตกเกิดจากอะไร พร้อมวิธีการรับมืออย่างปลอดภัย

ทุกคนเคยสงสัยกันไหมว่าไฟตกเกิดจากอะไร เชื่อว่าหลายบ้านเคยประสบกับปัญหาไฟตก โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบให้เกิดความลำบากในการใช้ไฟเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านอีกด้วย แล้วอย่างนี้จะแก้ปัญหาไฟตกได้อย่างไร วันนี้เซฟไทยจะพาไปดูกัน

ไฟตกคืออะไร?

ไฟตก คือ

‘ไฟตก’ เป็นหนึ่งในปัญหาการขัดข้องของไฟฟ้าที่พบเจอได้บ่อยครั้งในบ้านเรือนและสร้างความลำบากให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า โดยไฟตกเกิดจากการที่แรงดันไฟฟ้าลดลงต่ำกว่าที่กำหนดส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานผิดปกติ ซึ่งจะมีอาการ เช่น ไฟกระพริบ เครื่องใช้ไฟฟ้าดับ หรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

ส่องสาเหตุ! ไฟตกเกิดจากอะไร

สาเหตุของไฟตก

โดยปกติแรงดันไฟฟ้าที่ทางการไฟฟ้าจ่ายไปยังครัวเรือนต่าง ๆ จะมีค่า 220 โวลต์ แต่ความจริงแล้วไฟ 1 เฟส ทางการไฟฟ้าจะระบุว่าเป็นไฟที่มีแรงดัน 230 โวลต์ ซึ่งทางการไฟฟ้าจะยอมรับระดับแรงดันที่ตกจากปกติไม่เกิน 5% หรือ 220 โวลต์ ดังนั้นปัญหาไฟตกจึงเกิดขึ้นเมื่อแรงดันไฟฟ้าที่จ่ายมาลดลงต่ำกว่า 220 โวลต์ ส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานผิดปกติ

  • สาเหตุเบื้องต้นของเหตุไฟตกเกิดจากการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหลาย ๆ เครื่องพร้อมกัน โดยเฉพาะเครื่องที่กินไฟสูง เช่น แอร์ เครื่องทำน้ำอุ่น เตาอุ่น เตารีด เป็นต้น
  • ละแวกบ้านมีการใช้ไฟฟ้ามากเกินไป ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้ไฟฟ้าจากต้นทางมีไม่เพียงพอต่อการจ่ายพลังงานไปยังครัวเรือน จนนำไปสู่อาการไฟตกในละแวกนั้น
  • ไฟตกเกิดจากการขัดข้องของตัวนำไฟฟ้าภายในบ้าน หรือเกิดไฟช็อตภายในบ้าน ซึ่งควรแก้ปัญหาทันทีหากทราบสาเหตุ
  • มีกระแสไฟฟ้าไหลรั่วลงดิน ทำให้แรงดันไฟที่ส่งไฟยังบ้านเรือนตก
  • เมื่อเกิดการกระชากของกระแสไฟภายในบ้านจะส่งผลให้ไม่สามารถส่งกระแสไฟฟ้าได้ตามปกติและเกิดไฟตกได้เช่นกัน
  • ระยะทางจากแหล่งจ่ายพลังงานก็เป็นอีกสาเหตุของการเกิดไฟตก เนื่องจากหากอยู่ห่างจากสถานีจ่ายไฟมากเกินไป อาจทำให้แรงดันไฟฟ้าลดลงได้
  • เกิดจากสภาพอากาศภายนอก เช่น ฝนตก ฟ้าผ่า ฟ้าร้อง ฯลฯ

รู้ได้อย่างไรว่าไฟตก

หลังจากที่ได้รู้กันไปแล้วว่าไฟตกเกิดจากอะไร แล้วเราจะสังเกตได้อย่างไรว่าที่บ้านกำลังไฟตกหรือไม่

  • เครื่องใช้ไฟฟ้าหยุดทำงานในระยะสั้น ๆ เช่น หลอดไฟกะพริบ หรือเปิดติดยาก
  • เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เช่น หลอดไฟสว่างน้อยกว่าปกติ พัดลมหมุนช้าลง
  • เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ทำงาน เช่น เปิดแอร์ไม่ติด ปั๊มน้ำไม่ทำงาน

วิธีป้องกันเหตุการณ์ไฟตก

วิธีป้องกันเหตุการณ์ไฟตก

หากที่บ้านเกิดไฟตกบ่อย ๆ อาจสร้างความเสียหายให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า และลดอายุการใช้งานลงได้ หรือร้ายกว่านั้นอาจจะส่งผลต่อระบบไฟทั้งบ้าน ดังนั้นจึงควรป้องกันเหตุการณ์ไฟตกไว้ล่วงหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

  • สิ่งที่ควรทำทันทีเมื่อเกิดไฟตก คือ ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟสูง เพื่อป้องกันความเสียหายต่อเครื่องใช้ไฟฟ้า
  • หมั่นตรวจระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในบ้านอยู่เป็นประจำ หากพบปัญหาควรเรียกช่างผู้ชำนาญให้มาดำเนินการตรวจสอบและแก้ไข
  • หลีกเลี่ยงการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่มีฝนตกหนัก ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของไฟตก
  • ปรับช่วงเวลาการใช้ไฟ โดยหันไปใช้ไฟในช่วง Off-Peak หรือช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟต่ำ เพื่อเลี่ยงการแย่งใช้ไฟในช่วงเวลาเดียวกัน
  • เลือกที่พักอาศัยที่ไม่ใกล้และไม่ไกลแหล่งจ่ายพลังงานเกินไป เนื่องจากหากอยู่ใกล้เกินไปอาจเป็นอันตราย และหากอยู่ไกลเกินไปอาจจะส่งผลต่อการรับกระแสไฟ
  • ถอดปลั๊กอุปกรณ์ต่าง ๆ เมื่อไม่ได้ใช้งาน เนื่องจากการเสียบปลั๊กทิ้งไว้จะทำให้กระแสไฟฟ้าไหลเข้าอุปกรณ์อยู่เสมอ ดังนั้นการถอดปลั๊กก็จะช่วยเลี่ยงผลกระทบจากไฟตกได้
  • ติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพื่อเพิ่มความปลอดภัย เช่น เครื่องควบคุมแรงดันไฟฟ้า เครื่องตัดไฟรั่ว เบรกเกอร์ เครื่องกันไฟตก เป็นต้น
  • ใช้เครื่องสำรองไฟ (UPS) มักนิยมใช้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความซับซ้อน เช่น คอมพิวเตอร์ ที่อาจเกิดปัญหาจากไฟตกทำให้ข้อมูลเสียหาย จนไม่สามารถใช้งานอุปกรณ์ได้
  • เลือกใช้ปลั๊กไฟที่มีระบบ Serge Protection ที่จะมีการติดตั้งอุปกรณ์ปรับค่าแรงดันไฟฟ้าให้คงที่ แต่จะทำได้ในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น และทำงานได้อย่างเต็มที่ถ้าติดตั้งสายดินอย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ หากพบเหตุการณ์ไฟตกอย่างต่อเนื่อง ควรแจ้งการไฟฟ้าที่ดูแลในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบสาเหตุและดำเนินการแก้ไข

 

การตรวจสอบระบบไฟอย่างสม่ำเสมอและหาต้นตอว่าที่บ้านไฟตกเกิดจากอะไรเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากไฟตกไม่เพียงแต่จะสร้างความลำบากต่อการใช้งานไฟฟ้า แต่ยังส่งผลกระทบต่อการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกด้วย หากเราทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงแล้วก็จะช่วยให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟตกได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย

 

ที่มา: changfi

plugthai

tpe-trading

safesavethai