คงจะแย่แน่…ถ้าสถานที่หรืออาคารที่เราอยู่อาศัยนั้น มีระบบติดตั้งวงจรไฟฟ้าที่ไม่ครอบคลุมความปลอดภัยอย่างรอบด้าน หากเกิดเหตุอัคคีภัยในอาคารที่จำเป็นต้องมีไฟฟ้าหมุนเวียนตลอดเวลา เพื่อให้ไฟบางจุดยังสามารถทำงานได้อยู่นั้น จำเป็นต้องมีการออกแบบวงจรไฟฟ้าที่ปลอดภัยต่อการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรและทนต่อความร้อนจากเหตุอัคคีภัย
โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่ ‘ตัวนำไฟฟ้าหรือสายไฟฟ้า’ ซึ่งการเลือกใช้ ‘สายทนไฟ’ จะช่วยให้วงจรไฟฟ้าที่ออกแบบไว้สามารถทำการป้องกันอัคคีภัยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับอาคารที่มีผู้คนอยู่กันเป็นจำนวนมาก เซฟไทยจึงขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับคุณสมบัติของสายทนไฟกันว่าคืออะไร ควรใช้กับสถานที่ใดบ้าง พร้อมแล้วไปดูกันเลย
วงจรไฟฟ้า คืออะไร
ก่อนที่เราจะเลือกสายทนไฟมาติดตั้งในวงจรไฟฟ้าได้นั้น ควรทำความเข้าใจถึงเรื่องวงจรไฟฟ้าด้วยว่า วงจรไฟฟ้า (Electrical Circuit) เป็นกระบวนการจ่ายไฟฟ้าจากแหล่งกำเนิด ผ่านตัวนำไฟฟ้าอย่าง ‘สายไฟ’ เป็นทางเดินให้กระแสไฟฟ้าแล้วไหลผ่านถึงกันได้ ซึ่งวงจรไฟฟ้าประกอบด้วยส่วนสำคัญ ดังนี้
- แหล่งกำเนิดไฟฟ้า ที่สามารถจ่ายแรงดันไฟฟ้ามายังวงจรไฟฟ้าได้
- ตัวนำไฟฟ้า หรือสายไฟ ที่เป็นตัวนำพาให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้าให้สามารถใช้งานได้
- เครื่องใช้ไฟฟ้า กล่าวคือ เมื่อกระแสไฟฟ้าไหลเข้าสู่อุปกรณ์ไฟฟ้าแล้ว จะถูกเปลี่ยนจากพลังงานไฟฟ้าสู่พลังงานรูปแบบอื่น ๆ เช่น หากเสียบปลั๊กเตารีดจะแปลงเป็นพลังงานความร้อน หรือหากเสียบปลั๊กพัดลมจะแปลงเป็นพลังงานกลนั่นเอง
- สวิตช์ไฟ ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของวงจรไฟฟ้าให้สะดวกและปลอดภัย เป็นตัวกำหนดว่าจะปล่อยให้กระแสไฟไหลเข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือไม่
นอกจากนี้ การต่อวงจรไฟฟ้าก็จะแบ่งออกได้หลัก ๆ 2 แบบ คือ การต่อวงจรแบบอนุกรม กับ วงจรแบบขนาน โดยสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมต่อได้ที่ ไขข้อสงสัย ไฟฟ้ามาจากไหน เสียบปลั๊กแล้วไฟติดเองได้เลยเหรอ!?
สายทนไฟในวงจรไฟฟ้าช่วยชีวิต
หลายคนอาจสงสัยว่า…แบบนี้ทุกสถานที่ก็สามารถติดตั้งวงจรไฟฟ้าที่ทนความร้อนจากเหตุอัคคีภัย หรือที่เราเรียกว่า ‘วงจรไฟฟ้าช่วยชีวิต’ ได้หมดทุกที่น่ะสิ ซึ่งความจริงแล้วการต่อวงจรไฟฟ้าช่วยชีวิตที่ต้องติดตั้งสายทนไฟ มักเหมาะติดตั้งในอาคารสูงขนาดใหญ่ หรือสถานที่ที่มีจำนวนคนอาศัยอยู่มาก เพราะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ เช่น เหตุอัคคีภัยที่การอพยพผู้คนอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย หรืออาจจำเป็นต้องใช้ไฟในบางจุดที่สำคัญ โดยสายทนไฟนี้จะสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง เป็นเวลานาน และไม่ลัดวงจร ส่งผลให้วงจรไฟฟ้าช่วยชีวิตนี้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้นานเพียงพอต่อการอพยพหนีภัย
รู้จัก ‘สายทนไฟ’ คืออะไร
สายทนไฟ (Fire Resistant Cable : FRC) คือ สายไฟฟ้าที่ถูกออกแบบมาอย่างพิเศษให้เหมาะสมต่อการใช้งานและติดตั้งในวงจรไฟฟ้าที่ต้องการความปลอดภัยสูงกว่าปกติ โดยเฉพาะในวงจรไฟฟ้าช่วยชีวิตที่ต้องการสายไฟทนต่อความร้อนในสภาวะเพลิงไหม้ได้เป็นอย่างดี
ทำไมต้องเป็นสายทนไฟ?
อย่างที่ได้กล่าวไปว่าสายทนไฟถูกออกแบบมาให้ตอบโจทย์กับการทนต่อความร้อนในเหตุอัคคีภัย โดยในสายทนไฟจะประกอบด้วยวัสดุทนไฟอย่าง เทปไมก้า (Mica tape) เป็นวัสดุป้องกันไฟและควันลาม (Fire Barrier) พันอยู่รอบตัวนำ ซึ่งทำหน้าที่เป็นฉนวนป้องกันการลัดวงจร รวมถึงยังมีคุณสมบัติอื่น เช่น ต้านทานการลุกลามไฟของสายไฟ ปล่อยควันน้อยกว่าสายไฟทั่วไป และไม่ปล่อยก๊าซพิษอีกด้วย
ในขณะที่ ‘สายไฟทั่วไป’ จะไม่สามารถจ่ายไฟได้ หากเกิดการลัดวงจรและเหตุเพลิงไหม้ และหากสายไฟนั้นมีฉนวนเป็น PVC จะมีสารประกอบของธาตุคลอรีน (CI) หากถูกเผาไหม้จะปล่อยก๊าซไฮโดรเจนคลอไรด์ (HCI) หรือกรดเกลือออกมา เป็นก๊าซมีพิษ ไม่มีสี มีฤทธิ์ในการกัดกร่อนสูง อันตรายหากสัมผัสกับผิวหนัง
ประเทศไทย มีการกำหนดมาตรฐานการติดตั้งไฟฟ้าเพื่อใช้สายทนไฟในวงจรไฟฟ้าช่วยชีวิต สำหรับอาคารประเภทต่าง ๆ ดังนี้
1. อาคารชุด
2. อาคารสูง (อาคารที่สูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป)
3. อาคารขนาดใหญ่พิเศษ (อาคารที่มีขนาดพื้นที่รวมตั้งแต่ 10,000 ตร.ม ขึ้นไป)
4. อาคารเพื่อการสาธารณะใต้ดิน (เช่น ชั้นใต้ดินของอาคารทั่วไป อาคารจอดรถใต้ผิวดิน สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน อุโมงค์ใต้ดิน)
วงจรไฟฟ้าช่วยชีวิต จะต้องมีระบบหรือวงจรไฟฟ้า ตามดังต่อไปนี้
- ระบบจ่ายไฟฟ้าฉุกเฉิน
- ระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัย
- ระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน
- ระบบอัดอากาศสำหรับบันไดหนีไฟ
- ระบบดูดและระบายควันรวมทั้งระบบควบคุมการกระจายไฟและควัน
- ระบบเครื่องสูบน้ำและระบบดับเพลิงอัตโนมัติ
- ระบบสื่อสารฉุกเฉินสำหรับแจ้งเหตุเพลิงไหม้
- ระบบลิฟต์ผจญเพลิง
สายทนไฟที่ดี ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง?
- ต้านทานการติดไฟ (Fire Resistance) เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ สายทนไฟสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ต่อเนื่องในระยะเวลาหนึ่ง โดยไม่ลัดวงจร
- ต้านทานการลุกลาม (Flame Retardant) สายทนไฟจะช่วยให้เปลวไฟไม่ลุกลามไปตามสายไฟฟ้าในทันที ทำให้ไม่ขยายพื้นที่เพลิงไหม้ออกไปในวงกว้างกว่าเดิม
- ปล่อยควันน้อย (Smoke Emission) หากสายทนไฟถูกเพลิงไหม้จะปล่อยควันน้อยกว่าสายไฟทั่วไป ลดการสูดควันเข้าปอด
- ปลอดก๊าซกรด (Acids and Corrosive Gas Emission) สายทนไฟใช้วัสดุที่ไม่ปล่อยก๊าซพิษ ไม่มีส่วนประกอบของก๊าซกรดฮาโลเจน (0 mg/g หรือ 0.0% = Zero Halogen)
สายไฟที่มีคุณสมบัติทนไฟนั้น นอกจากจะมีสายทนไฟ FRC แล้ว ยังมีสายไฟ LSOH (Low Smoke Zero Halogen) ด้วย แต่จะไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าขณะเกิดเพลิงไหม้ได้เหมือนกับสายทนไฟ FRC เท่านั้นเอง
เราก็ได้รู้จักกับวงจรไฟฟ้าและสายทนไฟกันไปแล้ว ฉะนั้น ก่อนเลือกใช้สายทนไฟควรพิจารณาถึงคุณสมบัติและเลือกให้เหมาะสมกับระดับความปลอดภัยที่ต้องการของสถานที่และอาคารนั้น ๆ
ที่มา: pdcable