• 65 Views
  • Aug 23, 2023
  • 3 mins read

ทำอย่างไร? เมื่อกระแสไฟฟ้าขัดข้องจากเหตุน้ำท่วมฉับพลัน

กระแสไฟฟ้าขัดข้องนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะช่วงที่ฝนตกหนักซึ่งอาจก่อให้เกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลัน น้ำท่วมขัง รวมถึงภัยน้ำป่าไหลหลากที่ในหลายพื้นที่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง ดังนั้นทางเซฟไทย จึงได้เตรียมการนำเสนอข้อมูล แนะแนวทางเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าอย่างไรให้ปลอดภัยในกรณีที่เกิดน้ำท่วมหรือน้ำท่วมขังมาบอกกัน

เซฟไทย ห่วงใยความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดอุบัติภัยทางไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น การที่กระแสไฟฟ้าขัดข้องจากสาเหตุเสาอากาศ/ป้ายโฆษณา/ต้นไม้/กิ่งไม้ใหญ่ ล้มทับสายไฟฟ้าแรงสูง  ดังนั้นหากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงควรติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพปกติก่อนใช้งาน เพื่อความปลอดภัย

ป้องกันกระแสไฟฟ้าขัดข้อง เตรียมรับมือก่อนน้ำท่วม

  1. ป้องกันกระแสไฟฟ้าขัดข้อง เตรียมรับมือก่อนน้ำท่วม

หากพิจารณาแล้วว่ามีโอกาสที่น้ำจะท่วมเข้าบ้าน ให้เตรียมป้องกันกระแสไฟฟ้าขัดข้องด้วยการขนย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ไปไว้ที่ปลอดภัยหรือที่สูงที่น้ำจะท่วมไม่ถึงเสียก่อน รวมถึงอย่าลืมปิดเมนสวิตช์ในกรณีที่จะอพยพไปอยู่ที่อื่น

ขณะเผชิญน้ำท่วมขัง ควรทำอย่างไรไม่ให้เกิดกระแสไฟฟ้าขัดข้อง

  1. ขณะเผชิญน้ำท่วมขัง ควรทำอย่างไรไม่ให้เกิดกระแสไฟฟ้าขัดข้อง

  • หากเป็นบ้านชั้นเดียว งดใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าเด็ดขาด รวมไปถึงสวิตช์ไฟทั้งด้านในและด้านนอกบ้านก็ควรปิดการใช้งานไปก่อน โดยเฉพาะปลั๊กไฟที่น้ำท่วมยิ่งห้ามใช้งานเด็ดขาด
  • กรณีเป็นบ้านสองชั้น ที่มีสวิตช์แยกชั้น สามารถปิดสวิตช์เฉพาะชั้นล่างที่น้ำกำลังจะท่วมได้ เพื่อตัดกระแสไฟฟ้าเฉพาะบางพื้นที่
  • งดสัมผัสสวิตช์และใช้ไฟฟ้า ขณะที่ตัวเปียกหรือโดนน้ำเด็ดขาด
  • ถ้าน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน และมีความจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในบ้านที่น้ำท่วม ควรใช้ไฟฟ้าเฉพาะชั้นบนเท่านั้น ซึ่งแนะนำว่าให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือช่างไฟฟ้าที่เชี่ยวชาญระบบไฟฟ้ามาปลดสวิตช์ชั้นล่างให้ เพื่อความปลอดภัย พร้อมปรึกษาเจ้าหน้าที่เพื่อแยกวงจรชั้นบนและชั้นล่าง

ข้อสำคัญในการป้องกันกระแสไฟฟ้าขัดข้อง ควรอยู่ห่างจากเสาไฟฟ้า รวมถึงระบบจำหน่ายไฟในพื้นที่น้ำท่วมอย่างน้อย 2-3 เมตร นอกจากนี้หากพบเห็นสายไฟฟ้าขาด เสาไฟฟ้าล้ม และสายไฟฟ้าขาดแช่น้ำ ไม่ควรเข้าใกล้เด็ดขาด แต่ให้รีบแจ้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ เพื่อดำเนินการแก้ไขทันที

ซ่อมบำรุงหลังน้ำท่วม เพื่อไม่ให้กระแสไฟฟ้าขัดข้อง

  1. ซ่อมบำรุงหลังน้ำท่วม เพื่อไม่ให้กระแสไฟฟ้าขัดข้อง

หลังน้ำท่วมเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ควรตรวจสอบระบบไฟฟ้าให้เรียบร้อยปลอดภัยก่อนเปิดใช้งาน เนื่องจากอุปกรณ์ไฟฟ้าอาจไม่อยู่ในสภาพเดิมหลังจากที่น้ำท่วม ดังนั้น จึงควรให้ช่างผู้เชี่ยวชาญด้านระบบไฟฟ้ามาตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้า สวิตช์ ปลั๊ก เพื่อแก้ไข/ซ่อมบำรุงให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัยเสียก่อน เพื่อป้องกันเหตุกระแสไฟฟ้าขัดข้องและอันตรายจากไฟฟ้าที่อาจเกิดขึ้นได้

ใช้ไฟฟ้าขณะน้ำท่วม

ข้อควรรู้ เตือนภัยการใช้ไฟฟ้า ขณะพายุฝนฟ้าคะนอง

  • เมื่อเกิดฟ้าคะนอง ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ลมกระโชกแรง และมีฝนตกหนัก ทางที่ดีควรงดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด และที่สำคัญหากเครื่องใช้ไฟฟ้าเปียกน้ำ ควรเช็ดหรือผึ่งให้แห้งก่อน เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้าลัดวงจรภายในเครื่องใช้ไฟฟ้า
  • ป้องกันอันตรายของกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกาย หรือที่เรียกว่า ‘ไฟช็อต’ ห้ามสัมผัสกับสวิตช์ไฟหรือปลั๊กไฟ เมื่อมือหรือตัวของเราเปียกเด็ดขาด เนื่องจากกระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านร่างกายได้โดยสะดวก อาจส่งผลให้ถึงแก่ชีวิตได้
  • ติดตั้งสายดินป้องกันไฟฟ้ารั่ว รวมถึงติดตั้งเครื่องตัดไฟฟ้ารั่ว ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในขณะที่ร่างกายเปียกชื้น เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น ที่จะช่วยเสริมการทำงานของสายดินให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นกว่าเดิม
  • ไม่ควรอยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ โดยเฉพาะบริเวณใกล้แนวสายไฟฟ้า เนื่องจากเมื่อมีลมพัดแรงอาจทำให้กิ่งไม้เอนไปหาสายไฟฟ้า จนทำให้ต้นไม้หักโค่นล้มทับสายไฟฟ้าได้
  • หากพบกิ่งไม้ที่หักโค่นทับสายไฟฟ้าแรงสูง ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าในพื้นที่ให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ไข และที่สำคัญคือ ห้ามเข้าใกล้เด็ดขาด เพราะอาจมีกระแสไฟฟ้ารั่วจนเกิดอันตรายได้

นอกจากข้อมูลเตรียมรับมือเหตุกระแสไฟฟ้าขัดข้องจากเหตุน้ำท่วมแล้ว หากต้องการสอบถามข้อมูล แจ้งเหตุไฟฟ้าขัดข้อง หรือขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับไฟฟ้า สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สายด่วน กฟภ. โทร.1129 PEA Contact Center ตลอด 24 ชั่วโมง

รู้แบบนี้แล้ว… ช่วงที่ฝนตก มีฝนฟ้าคะนองที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายในการใช้ไฟฟ้า หรือมีโอกาสเกิดเหตุกระแสไฟฟ้าขัดข้อง ทุกคนจึงควรเฝ้าระวังอุบัติเหตุ และเตรียมรับมือให้ใช้ไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่น่ากังวลใจในช่วงนี้อีกด้วย เช่น หลังคารั่ว สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วิธีเช็กหลังคารั่ว ป้องกันเครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหายในช่วงหน้าฝน

ที่มา: thansettakij

PEA

gcc.go.th

peachannel