จะทำอย่างไรเมื่อไฟดับ? เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าในชีวิตประจำวันของทุกคนล้วนต้องพึ่งพาอาศัยไฟฟ้าแทบจะทุกวินาทีเลยทีเดียว หากเกิดเหตุการณ์ไฟดับขึ้นมาคงจะส่งผลกระทบมากมาย โดยทางเซฟไทยจะมาบอกถึงสาเหตุของไฟดับ พร้อมวิธีรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ว่าควรทำอย่างไรบ้าง
เชื่อว่าทุกคนคงเคยเผชิญกับเหตุการณ์ไฟดับบ่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงที่ฝนตกหนัก พายุฝนฟ้าคะนอง ทำให้ต้องเตรียมอุปกรณ์ให้ความสว่างสำรองเอาไว้ รวมไปถึงต้องวางแผนล่วงหน้าว่าหากเกิดไฟดับขึ้นมาจะทำยังไงดี เพราะอาจส่งผลกระทบให้ไม่สามารถทำงานหรือส่งงานได้ ยิ่งในช่วงที่ยังมีการ Work from home อยู่ด้วยนั้นยิ่งจำเป็นที่จะต้องรู้วิธีรับมือกับสถานการณ์ไฟดับอย่างถูกต้อง
แต่ก่อนอื่นเราจำเป็นจะต้องรู้ถึงสาเหตุของการเกิดไฟดับ เพื่อจะได้รับมืออย่างถูกจุด ตามไปดูกันเลยว่าไฟดับสามารถเกิดขึ้นได้จากอะไรบ้าง
ไฟดับ เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง?
-
จากภัยธรรมชาติ
ฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนัก ลมกรรโชกแรง มีฟ้าผ่าลงมาที่สายส่งหรืออุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นเหตุทำให้ฟิวส์หรืออุปกรณ์ป้องกันบางอย่างเกิดชำรุดเสียหาย หากมีอะไรก็ตามไปโดนสายไฟจนทำให้เกิดกระแสไฟลัดวงจรก็จะส่งผลให้ไฟดับได้
-
จากอุบัติเหตุ
สาเหตุนี้เกิดได้ทั้งจากการขับรถชนเสาไฟฟ้าจนล้ม การใช้เครื่องจักรกลใกล้สายไฟฟ้าอย่างขาดความระมัดระวัง มีการตัดต้นไม้ที่อยู่ใกล้แนวสายไฟ การเผาใกล้แนวสายไฟ รวมไปถึงการยิงนกที่เกาะบนสายไฟ
-
จากการที่สัตว์ขึ้นไปอยู่บนสายไฟ
เช่น งูเลื้อยขึ้นไปบนเสาไฟหรือสายไฟ แมวหรือตุ๊กแกปีนขึ้นไปถึงอุปกรณ์ไฟฟ้า ไปจนถึงนกบินไปเกาะลูกถ้วย ส่งผลให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรไหลผ่านตัวสัตว์ลงสู่ดิน
-
จากระบบไฟฟ้าภายในบ้านเกิดความขัดข้อง
เช่น ไฟฟ้ารั่ว ไฟฟ้าช็อต ไฟตก ซึ่งอาจเกิดจากตัวนำกระแสไฟฟ้าขัดข้อง มีการใช้กระแสไฟฟ้าสูงเกินกำลัง ข้อสังเกตคือ หากเกิดจากสาเหตุนี้ ไฟจะดับเป็นหลัง ๆ
-
จากระบบผลิตไฟฟ้าเกิดความขัดข้อง
อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ระบบส่งไฟฟ้าเกิดความชำรุด ลัดวงจร ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้บ้างเป็นครั้งคราว อาจส่งผลให้ไฟดับอย่างกะทันหัน นอกจากนี้ยังเกิดได้จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดับกระแสไฟฟ้าเพื่อปฏิบัติงานตามแผนงาน ซึ่งจะมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วันทำการ
-
จากการค้างค่าชำระ
สาเหตุปลายจมูกที่เราอาจลืมไป ถ้าไม่ได้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าขัดข้องแต่อย่างใด ลองหันกลับมาเช็กดูก่อนว่าเราชำระค่าไฟฟ้าหรือยัง บางทีที่ไฟดับอาจมาจากเหตุนี้ก็ได้นะ
วิธีรับมือกับเหตุการณ์ ‘ไฟดับ’
-
ตั้งสติหาอุปกรณ์ที่ให้ความสว่าง หาสาเหตุของไฟดับให้เจอก่อน
หากเกิดเหตุการณ์ไฟดับขึ้นแบบกะทันหัน ควรตั้งสติแล้วรีบหาอุปกรณ์ที่ให้ความสว่างที่ใกล้มือที่สุดเพื่อเปิดให้ความสว่างก่อน (กรณีที่เกิดขึ้นตอนกลางคืน) หลังจากนั้นลองสังเกตุละแวกรอบข้างดูว่าไฟดับเหมือนกันไหม เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง จะได้รับมืออย่างถูกจุด
- ถ้าไฟดับตอนฝนตก ละแวกรอบข้างก็คงเจอสถานการณ์เดียวกันกับเรา อาจจะต้องรอทางเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าทำการแก้ไขอย่างเร็วที่สุด
- ถ้าไฟดับบ้านเราบ้านเดียวหรือดับแค่บางจุดในบ้าน อาจมาจากไฟฟ้าขัดข้องภายในบ้าน ควรตรวจสอบแผงเมนสวิตช์ของบ้าน และสับสวิตช์เครื่องตัดไฟให้เป็นปกติ หรืออาจเป็นเพราะเราลืมจ่ายค่าไฟก็ได้ ลองเช็กดูก่อนนะ
-
เมื่อไฟดับต้องปิดสวิตช์ ดึงปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทั้งหมด
ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดภายในบ้านออก เพื่อป้องกันการเกิดไฟกระชาก โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการแรงดันไฟฟ้าให้คงที่ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ เพราะเมื่อไหร่ที่กระแสไฟจ่ายกลับคืนอย่างกะทันหัน อาจทำให้ไฟกระชาก ส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหายได้
-
ทำไงดี ไฟดับแต่มีตู้เย็น ของในตู้จะเสียไหม?
บ้านไหนที่มักจะเก็บวัตถุดิบที่เป็นอาหารสดเอาไว้ อาจเป็นกังวลว่ามันจะเน่าเสียไปไหมถ้าไฟดับ สิ่งที่ควรทำก็คือถอดปลั๊กตู้เย็นทันที และปิดประตูตู้เย็นให้สนิท หลีกเลี่ยงการเปิดตู้เย็น เพื่อรักษาความเย็นที่เหลืออยู่ให้ได้นานที่สุด ซึ่งช่องแช่ธรรมดาจะสามารถเก็บอาหารสดให้เย็นได้ประมาณ 4 ชั่วโมง และช่องแช่แข็งเก็บได้นานประมาณ 1-2 วัน (ขึ้นอยู่กับประเภทของตู้เย็นด้วยนะ) หากเป็นตู้เย็นประตูเดียวแล้วกังวลว่าน้ำแข็งของช่องแช่แข็งจะละลายลงมาทำให้อาหารเน่าเสีย แนะนำให้นำอาหารออกมาข้างนอก
-
ไฟดับ ไม่รู้จะมาตอนไหน ควรประหยัดพลังงานที่มีอยู่เอาไว้ก่อน
เพราะเราไม่รู้เลยว่าไฟดับนั้นจะนานไหม ไม่กี่นาที หรือจะเป็นชั่วโมง ดังนั้น เราจึงควรประหยัดพลังงานที่ยังคงใช้งานได้อยู่ เช่น แบตโทรศัพท์ ปรับเป็นโหมดประหยัดพลังงาน ลดแสงสว่างของหน้าจอลง ปิดแอปพลิเคชันที่ไม่จำเป็น
-
ไฟดับแล้วน้ำไม่ไหลด้วยหรือเปล่า?
บ้านไหนที่มีน้ำประปาเชื่อมต่อกับปั๊มน้ำไฟฟ้า เมื่อไฟดับการจ่ายน้ำจะเกิดความขัดข้องตามไปด้วย ข้อแนะนำคือ ควรมีถังน้ำสำรองเอาไว้ใช้
-
ไฟดับ ต้องติดต่อใคร
การแจ้งเหตุไฟดับ ไฟฟ้าขัดข้อง ไฟตก สามารถติดต่อเบอร์ฉุกเฉิน การไฟฟ้านครหลวง (กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ) โทร. 1130 หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (จังหวัดอื่น ๆ) โทร. 1129 PEA Contact Center
พร้อมแจ้งข้อมูล เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการตรวจสอบ ดังนี้
- หมายเลขผู้ใช้ไฟฟ้า 12 หลัก (จากบิลค่าไฟ)
- ชื่อ-นามสกุล ของผู้แจ้งเหตุ
- หมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้
- วัน และเวลาที่ไฟดับ
- ลักษณะที่ไฟดับ
- สาเหตุเบื้องต้นที่คาดว่าทำให้ไฟดับ
ก็ได้รู้กันแล้วว่าไฟดับเกิดจากอะไรได้บ้าง หากหาสาเหตุได้ก็สามารถรับมือและเตรียมการป้องกันได้ง่าย ๆ แล้ว ทางเซฟไทยหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะ
ที่มา: