• 526 Views
  • Mar 29, 2023
  • 5 mins read

รวมข้อห้ามทำที่ควรรู้! เพื่อความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้าในบ้าน

ความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้าเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกครัวเรือนจำเป็นจะต้องรู้ข้อปฏิบัติและข้อห้าม เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ เพราะเชื่อว่าทุกบ้านจะต้องมีเครื่องใช้ไฟฟ้าในการอำนวยความสะดวกมากกว่า 1 ชนิดแน่นอน ไม่ว่าจะเป็น ตู้เย็น ไมโครเวฟ เครื่องซักผ้า หม้อหุงข้าว เครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องปรับอากาศ และอื่น ๆ อีกมากมาย

แต่รู้ไหมว่า…เครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภทมีข้อห้ามทำอยู่ ทางเซฟไทยจะพาไปดูว่าความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้ากับเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดนั้นมีอะไรบ้าง

  1. ความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้า กับ ‘ไมโครเวฟ’

ความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้า กับ ‘ไมโครเวฟ’

เชื่อว่าแทบทุกบ้านจะต้องมีเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่าง ‘ไมโครเวฟ’ เพราะช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับอุ่นอาหาร ปรุงอาหารเมนูง่าย ๆ ได้ แถมใช้งานง่าย เพียงเอาอาหารเข้าเครื่อง ตั้งเวลาและระดับความร้อน รอครู่เดียวอาหารก็พร้อมทานแล้ว แต่รู้หรือไม่? ว่ามีบรรจุภัณฑ์บางชนิดที่ห้ามนำเข้าไมโครเวฟเด็ดขาด เพราะเสี่ยงระเบิดได้เลย

  • ฟอยล์ห่ออาหาร เจอกับความร้อนของไมโครเวฟจะทำให้เกิดประกายไฟและลุกไหม้ได้
  • บรรจุภัณฑ์กระดาษ ภาชนะกระดาษ ห้ามนำเข้าไมโครเวฟเด็ดขาด เพราะทำให้เกิดไฟลุกไหม้ได้
  • กล่องพลาสติก ควรดูชนิดที่นำเข้าไมโครเวฟได้ เช่น พลาสติกประเภท PET และ PP ส่วนพลาสติกประเภทอื่น ๆ แม้จะเสี่ยงต่อการระเบิดน้อย แต่ความร้อนก็ทำให้สารเคมีในพลาสติกละลายมาปนเปื้อนกับอาหารได้ จึงอันตรายต่อสุขภาพเช่นกัน
  • ชามโลหะ รวมถึงภาชนะอื่น ๆ ที่มีส่วนประกอบของโลหะ ไม่ควรนำเข้าไมโครเวฟ เพราะพื้นผิวของโลหะจะสะท้อนคลื่นความร้อน มีโอกาสเกิดประกายไฟ และยังส่งผลให้ไมโครเวฟเสื่อมสภาพง่ายกว่าเดิม
  • จานชามที่มีลายเคลือบ หากลายที่เคลือบไม่ทนความร้อน อาจละลายมาปนเปื้อนอาหารได้
  • จานหรือชามเมลามีน แม้พลาสติกเมลามีนจะทนความร้อนกว่าชนิดอื่น แต่ไม่อาจทนความร้อนของไมโครเวฟได้ นอกจากนี้ยังมีสารฟอร์มัลดีไฮด์ที่เป็นสารก่อมะเร็ง ที่อาจละลายมาปนเปื้อนกับอาหารอีกด้วย
  • กล่องโฟม อย่าว่าแต่นำเข้าไมโครเวฟเลย จะบรรจุอาหารร้อนจัดยังไม่ควร เพราะเมื่อโฟมเจอความร้อนจะละลายได้ง่าย ยิ่งเป็นความร้อนจากไมโครเวฟ กล่องโฟมจะละลายไปจนถึงไฟลุกไหม้ได้ด้วย
  • อาหารบางชนิดไม่ควรนำเข้าไมโครเวฟ เช่น ไข่สด เนื่องจากความร้อนของไมโครเวฟทำให้เกิดไอน้ำแรงดันสูง และอากาศภายในไข่ขยายตัวทำให้ไข่ร้อนจัดจนไข่ระเบิดได้ รวมถึงพวกผลไม้เปลือกหนาก็ไม่ควรนำเข้าไมโครเวฟเช่นกัน กรณีเดียวกับการต้มไข่ในไมโครเวฟ

สิ่งที่นำเข้าไมโครเวฟได้ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้า

สิ่งที่นำเข้าไมโครเวฟได้ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้า

  • ภาชนะเซรามิกและกระเบื้อง แต่มีข้อระวังคือ หากมีลวดลายหรือตกแต่งเคลือบสี เมื่อได้รับความร้อนสูงอาจละลาย ทำให้สารเคมีปนเปื้อนลงอาหารได้
  • ภาชนะที่ทำจากแก้ว ใช้งานอุ่นในไมโครเวฟได้ แต่ควรระวังการตกแต่งลวดลายด้วยเช่นกัน
  • กล่องพลาสติกที่มีสัญลักษณ์ Microwavable หรือ Microwave Safe
  1. ความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้า กับ ‘ตู้เย็น’

ความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้า กับ ‘ตู้เย็น’

ตู้เย็นเป็นอีกหนึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขาดไม่ได้ ช่วยถนอมหารสดให้อยู่ได้นาน แช่อาหารที่ต้องการความเย็นให้คงสภาพดีต่อไป แต่เชื่อว่าหลายคนอาจเคยหยิบบรรจุภัณฑ์ต้องห้ามและวัสดุต้องห้ามที่ไม่ควรแช่ในตู้เย็นเข้าไปแช่อย่างแน่นอน เพราะเป็นอะไรที่ใกล้ตัวมาก ๆ อาทิ

  • อาหารกระป๋อง ทั้งอาหารคาวและผลไม้กระป๋องที่เปิดฝาแล้ว เพราะความชื้นและออกซิเจนเป็นปัจจัยทำให้เกิดสนิม เมื่อเราทานอาหารกระป๋องที่เกิดการกัดกร่อน มีโลหะหนักปนเปื้อนจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ไปจนถึงก่อสารมะเร็งตามมาได้ด้วย
    คำแนะนำ หากทานอาหารกระป๋องไม่หมด ควรแยกอาหารใส่ภาชนะอื่นแยกออกมา แล้วค่อยนำเข้าตู้เย็น หรือกรณีที่ยังไม่เปิดฝากระป๋อง สามารถแช่ตู้เย็นได้ในเวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยในการรับประทาน
  • ของร้อน อาหารร้อนจัด ควรรอให้อาหารเย็นลงก่อน แล้วค่อยแช่ตู้เย็น เพราะของร้อนทำให้ตู้เย็นทำงานหนัก
  • แก้วใส ไม่ควรนำเข้าช่องฟรีซ ช่องแช่แข็ง เนื่องจากน้ำในแก้วเมื่อเจอความเย็นจัดของช่องแช่แข็งจะส่งผลให้มีปริมาตรเพิ่มขึ้น หากปิดฝาจะดันทำให้แก้วแตกได้
  • แก้วสแตนเลส ไม่ควรนำเข้าช่องฟรีซ ช่องแช่แข็ง เสี่ยงอันตรายและทำให้แก้วมีประสิทธิภาพลดลง
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์บรรจุก๊าซหรือน้ำอัดลมในช่องฟรีซ เครื่องดื่มที่มีก๊าซจะขยายตัวเมื่อเจอความเย็นจัด เสี่ยงต่อการระเบิด แช่ตู้เย็นช่องปกติก็เพียงพอแล้ว
  • การแช่ของในตู้เย็นมากจนเกินไป จะทำให้ไม่มีช่องว่างให้อากาศหมุนเวียน นอกจากจะทำให้ตู้เย็นทำงานหนักแล้ว ยังส่งผลให้ถึงเรื่องความสดของอาหารอีกด้วย

สิ่งที่ทำในการดูแลรักษาตู้เย็น เพื่อความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้า

สิ่งที่ทำในการดูแลรักษาตู้เย็น เพื่อความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้า

  • รักษาระยะห่างในตำแหน่งการวางตู้เย็นกับผนัง ทั้งด้านข้างและด้านบน ซึ่งตู้เย็นระบายความร้อนผ่านคอมเพรสเซอร์ที่อยู่ด้านหลัง ควรเลือกตั้งตู้เย็นให้ห่างผนังประมาณ 15 เซนติเมตรขึ้นไป
  • ทำความสะอาดตู้เย็นอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะตู้เย็นประตูเดียวที่ต้องละลายน้ำแข็งช่องฟรีซ อ่านเพิ่มเติมวิธีละลายน้ำแข็งตู้เย็นที่ถูกต้อง ได้ที่ วิธีละลายน้ำแข็ง ตู้เย็น ที่ถูกต้องปลอดภัย ทำง่าย ไม่กี่นาทีก็เสร็จ!
  • ตรวจเช็กและบำรุงรักษา หากพบว่ามีส่วนใดชำรุด ควรรีบซ่อมทันที เช่น สภาพของขอบยางประตูตู้เย็น ถ้ายางตู้เย็นเสื่อม ควรเปลี่ยนโดยช่างผู้เชี่ยวชาญ

ได้รู้ถึงความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้ากับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีแทบทุกบ้านกันไปแล้ว ใครที่เคยทำข้อต้องห้ามเหล่านี้จะได้ระมัดระวังกันมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน แถมประหยัดไฟได้อีกด้วย

ที่มา: seacon.co.th

f-plus.co.th

ofm.co.th

Mahidol Channel