รู้หรือไม่…การติดแผงโซลาร์เซลล์เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้คนที่ต้องอยู่แต่บ้านมากขึ้น การที่ต้องทำงานในรูปแบบ Work From Home ซึ่งเท่ากับว่าจะทำให้มีอัตราการใช้ไฟที่สูงขึ้น หรือการให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาดที่จะช่วยประหยัดทรัพยากรได้มาก
แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามการตัดสินใจเลือกติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่บ้านก็มีข้อควรรู้ก่อนติดอยู่นะ ใช่ว่าจะเหมาะสมกับทุกครัวเรือนเสมอไป สำหรับใครที่กำลังหาข้อมูลในการติดแผงโซลาร์เซลล์อยู่ ทางเซฟไทยมีมาบอกแล้ว
โซลาร์เซลล์ คืออะไร
ก่อนที่เราจะตัดสินใจติดแผงโซลาร์เซลล์นั้น มาทำความรู้จักกันว่าแผงโซลาร์เซลล์ (Photovoltaics : PV) คือ แผงวงจรแสงอาทิตย์ ที่สามารถเปลี่ยนพลังงานแสงหรือโฟตอนเป็นพลังงานไฟฟ้า มาในลักษณะแผ่นเซลล์หลาย ๆ แผ่นมาต่อวงจรรวมกันเป็นแผงขนาดใหญ่ เพื่อให้ได้ไฟฟ้ากระแสตรง (Direct Current : DC) เข้าสู่เครื่องแปลงไฟ หรืออินเวอร์เตอร์ (Inverter) แปลงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (Alternating Current : AC) ที่รองรับการเปิดใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านนั่นเอง
ประโยชน์ของโซลาร์เซลล์
- เป็นการนำพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานที่ไม่มีวันหมดไปมาใช้งานได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- ช่วยประหยัดค่าไฟ
- มีความปลอดภัยสูงและใช้งานได้ยาวนาน ไม่ส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตของทั้งคนและสัตว์ สามารถใช้งานได้ในระยะยาว ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
- สามารถผลิตไฟฟ้าได้ทุกขนาด ไม่ว่าจะเป็นอาคาร บ้านเรือน สำหรับการเกษตร โรงงานอุตสาหกรรม
ข้อควรรู้ก่อนติดโซลาร์เซลล์
- ปริมาณการผลิตไฟฟ้าจะไม่คงที่ เพราะจำเป็นต้องอาศัยแสงอาทิตย์ ถ้าวันไหนไม่มีแสง หรือแสงน้อยก็จะส่งผลให้ผลิตไฟฟ้าได้น้อยตามไปด้วย
- การติดโซลาร์เซลล์ จำเป็นต้องดูความต้องการในการใช้ไฟด้วย หากต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูง อาจต้องคำนวณจำนวนแผงในการติดตั้งตามปริมาณที่ต้องการใช้
- หากปริมาณการใช้ไฟฟ้าไม่มาก การติดโซลาร์เซลล์ อาจทำให้ไม่คุ้มค่า จึงต้องคำนวณถึงค่าไฟและไลฟ์สไตล์การอยู่อาศัยก่อนตัดสินใจติดตั้ง
โซลาร์เซลล์ทำงานอย่างไร?
- เมื่อติดแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านแล้ว โซลาร์เซลล์จะทำการรับแสงอาทิตย์ในตอนกลางวัน ซึ่งจะได้เป็นพลังงานไฟฟ้า
- หลังจากนั้น พลังงานไฟฟ้าจะไหลเข้าสู่อินเวอร์เตอร์ (Inverter) เพื่อแปลงไฟฟ้ากระแสตรงที่ได้จากโซลาร์เซลล์อีกที เนื่องจากอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านใช้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ
- เมื่อแปลงเป็นไฟฟ้ากระแสตรงแล้วจะนำไปสู่ศูนย์รวมการจ่ายกระแสไฟฟ้าหรือตู้เบรกเกอร์ในบ้านนั่นเอง
- หากโซลาร์เซลล์ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เกินปริมาณที่เราต้องการใช้ สามารถขายไฟคืนให้การไฟฟ้าได้ ซึ่งจะมีเงื่อนไขเฉพาะสำหรับการติดตั้งระบบ On Grid
ระบบโซลาร์เซลล์มีอะไรบ้าง?
-
โซลาร์เซลล์ระบบ On Grid
ระบบนี้สามารถใช้ไฟได้จาก 2 ทาง ทั้งจากโซลาร์เซลล์และจากเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้า โดยไม่ต้องทำระบบสลับไฟ ซึ่งระบบ On Grid จะไม่มีแบตเตอรี่ในการสำรองไฟ เป็นการผลิตไฟฟ้าแล้วนำมาใช้เลย ซึ่งถ้าหากกระแสไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ของเราไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอ ระบบก็จะดึงไฟฟ้าจากการไฟฟ้ามาใช้โดยอัตโนมัติ และสามารถขายไฟคืนได้หากโซลาร์เซลล์ผลิตได้เกินความต้องการ จึงจำเป็นที่ก่อนการติดตั้งจะต้องขออนุญาตการไฟฟ้าเพื่อทำสัญญาขายไฟ
– เหมาะสำหรับครอบครัวที่อยู่บ้านช่วงกลางวัน ใช้ไฟช่วงกลางวันเยอะเป็นพิเศษ
– ลดค่าไฟฟ้าอย่างเห็นได้ชัด (เหมือนได้ใช้ไฟฟรี ในตอนกลางวัน)
– คืนทุนไวที่สุด
– ใช้งานได้เฉพาะตอนกลางวัน เพราะไม่มีแบตเตอรี่สำรองไฟไว้ใช้ตอนกลางคืน
– ต้องขออนุญาตก่อนการติดตั้ง
-
โซลาร์เซลล์ระบบ Off Grid
ระบบนี้จะเรียกว่าเป็นแบบอิสระก็ได้ เพราะไม่ต้องทำระบบเชื่อมต่อใด ๆ กับการไฟฟ้า ไม่ต้องขออนุญาตก่อนติดตั้ง ไม่ต้องเดินสายไฟ ซึ่งสามารถใช้ไฟฟ้าได้ทั้งกลางวันและกลางคืน เนื่องจากระบบนี้ต้องมีแบตเตอรี่ เมื่อโซลาร์เซลล์ผลิตไฟ ส่งไปที่คอนโทรลเลอร์ เพื่อปรับแรงดันไฟให้สม่ำเสมอ แล้วจ่ายไฟเข้าสู่การเก็บในแบตเตอรี่ ผ่านอินเวอร์เตอร์แปลงกระแสไฟ พร้อมจ่ายไฟสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน
– เหมาะกับสถานที่ที่ห่างไกลเกินกว่าไฟฟ้าจะเข้าถึง เช่น บนดอยสูง ไร่นา พื้นที่ท้องถิ่น เป็นต้น
– ใช้งานได้ทั้งกลางวันกลางคืน (ขึ้นอยู่กับแสงอาทิตย์ด้วย ถ้าไม่มีแดดติดต่อกันหลายวัน อาจมีไฟไม่พอใช้)
– ไม่ต้องขออนุญาตก่อนติดตั้ง
-
โซลาร์เซลล์ระบบไฮบริด (Hybrid)
ระบบนี้เหมือนนำเอา On Grid และ Off Grid มาผสมกัน สามารถใช้ไฟได้จากการไฟฟ้า โซลาร์เซลล์ และสำรองไฟที่ผลิตได้เกินการใช้งานไว้ได้ที่แบตเตอรี่ ทำให้ดึงไฟในส่วนนี้มาใช้ในตอนกลางคืนหรือช่วงที่ไฟตกได้ หากไม่เพียงพอระบบจะดึงจากการไฟฟ้ามาใช้ ช่วยลดค่าไฟได้มาก แต่ราคาการติดตั้งยังสูง ทำให้คืนทุนได้ช้าถ้าไม่ได้มีความต้องการใช้ไฟมากเท่าที่ควร
– เหมาะกับบ้านที่มีความต้องการใช้ไฟสูง หรือจำเป็นต้องใช้ไฟตลอด เช่น มีผู้ป่วยติดเตียงที่อาศัยอุปกรณ์การแพทย์ การสำรองไฟจึงสำคัญ
– ใช้งานได้ทั้งวัน และเป็นไฟฉุกเฉิน กรณีไฟดับ ไฟตก
– ใช้เวลากว่าจะคืนทุน เนื่องจากต้นทุนแบตเตอรี่ค่อนข้างสูง
– ไม่สามารถขายไฟคืนได้
คิดจะติดโซลาร์เซลล์ที่บ้านต้องพิจารณาอะไรบ้าง
-
ไลฟ์สไตล์การอยู่อาศัย
- ใช้ไฟฟ้ามากช่วงกลางวัน : หากครอบครัวอยู่บ้านทั้งวันโดยเฉพาะตอนกลางวัน มีการเปิดแอร์เป็นประจำ ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้ามาก เช่น เป็นโฮมออฟฟิศ มีผู้ป่วยติดเตียง ก็สามารถพิจารณาถึงการติดโซลาร์เซลล์ได้ แต่ถ้าหากอยู่บ้านเฉพาะตอนเย็นช่วงกลางคืน อาจไม่เหมาะที่จะติด เพราะโซลาร์เซลล์อาศัยแสงอาทิตย์เป็นพลังงาน
- เปรียบเทียบบิลค่าไฟ : เพื่อวัดอัตราการใช้ไฟฟ้าว่าคุ้มค่าที่จะติดโซลาร์เซลล์หรือไม่ แนะนำให้ดูย้อนหลัง 3 เดือน – 1 ปี หากมีค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 2,000 – 3,000 บาทขึ้นไป ก็พอจะพิจารณาในการติดตั้งได้ โดยโซลาร์เซลล์ 1.8 กิโลวัตต์ สามารถประหยัดค่าไฟได้ประมาณ 900-1,000 บาทต่อเดือน (ส่วนนี้บริษัทรับติดตั้งโซลาร์เซลล์จะประเมินเป็นกรณีของแต่ละบ้านไป)
- ค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง : นอกจากค่าใช้จ่ายของตัวโซลาร์เซลล์เองแล้ว ยังมีค่าอื่น ๆ อีก อาทิ ค่าการติดตั้ง การขออนุญาตติดตั้ง การดูแลรักษาหลังติดไปแล้วอีกด้วย ฉะนั้น ก่อนจะตัดสินใจต้องคำนวณถึงความคุ้มค่าด้วย
-
สำรวจพื้นที่การติดตั้ง
- โลเคชันตัวบ้าน : ต้องดูทิศทางของแสงอาทิตย์ หากตัวบ้านตั้งอยู่ในจุดที่แดดไม่ลงหรือโดนบดบังจากต้นไม้ใหญ่ ตึกสูง ก็อาจไม่เหมาะกับการติดโซลาร์เซลล์
- สภาพหลังคา : ทั้งโครงสร้างและพื้นผิวของหลังคาว่าอยู่ในสภาพที่แข็งแรงพอจะติดโซลาร์เซลล์ ต้องทำการซ่อมแซมก่อนไหม เพราะจะต้องคำนวณความแข็งแรงของโครงสร้างว่ารับน้ำหนักไหวหรือไม่
การติดแผงโซลาร์เซลล์นั้นมีประโยชน์มากมาย หากเราพิจารณาก่อนติดตั้งเหมาะสมกับความต้องการ ทั้งช่วยประหยัดไฟและใช้ทรัพยากรอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด
ที่มา: baanlaesuan