Standby Mode คือภัยเงียบจากการกินไฟที่หลายคนมองข้าม อุปกรณ์ในบ้านที่ดูเหมือนปิดเครื่องแล้ว แต่ยังแอบใช้ไฟอยู่ ยิ่งมีหลายชิ้น ยิ่งสะสมค่าไฟโดยไม่จำเป็นได้ ถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของเรา เพื่อป้องกันไม่ให้สูญเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์
Standby Mode คืออะไร
โหมดสแตนด์บาย (Standby Mode) คือ สภาวะที่เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ได้ใช้งานเต็มประสิทธิภาพ แต่ยังคงเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้า และใช้พลังงานอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทันกับตอบสนองคำสั่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เช่น การรับสัญญาณจากรีโมต ไฟแสดงสถานะบนตัวเครื่อง หน้าจอแสดงผลตัวเลข หรือระบบไฟฟ้าภายในที่ต้องเปิดทิ้งไว้
แม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าจะเริ่มออกแบบเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ประหยัดพลังงานมากขึ้นเมื่อใช้งาน Standby Mode และในบางประเทศได้ออกกฎเกณฑ์ควบคุมการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าในโหมดนี้ แต่ในความเป็นจริงก็ยังคงสิ้นเปลืองไฟฟ้าโดยที่เจ้าของบ้านอาจไม่ทันสังเกต
สังเกตง่าย ๆ ว่าหากเห็นอุปกรณ์ที่มีไฟ LED ติดค้าง หน้าจอแสดงตัวเลข หรือมีระบบรับสัญญาณจากรีโมต นั่นแปลว่าเครื่องใช้ไฟฟ้ายังอยู่ใน Standby Mode และแอบดูดไฟอยู่ทุกวัน
ภัยเงียบของ Standby Mode
แม้ Standby Mode จะเป็นฟังก์ชันที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับชีวิต แต่รู้หรือไม่ว่าภายใต้ความสะดวกนั้น ยังมีผลกระทบต่าง ๆ ด้วย เช่น
1. สิ้นเปลืองพลังงานโดยไม่จำเป็น
Standby Mode ช่วยให้อุปกรณ์ไฟฟ้าพร้อมใช้งานได้ทันที จึงมีการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5-10% ของค่าไฟภายในบ้าน ถึงแม้จะกินไฟเพียง 1-25 วัตต์ต่อเครื่อง แต่เมื่อรวมกับเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายพันล้านเครื่องทั่วโลก จะกลายเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานอย่างมหาศาล
2. ลดอายุการใช้งานของอุปกรณ์
นอกจากสิ้นเปลืองพลังงานแล้ว การปล่อยให้อุปกรณ์ไฟฟ้าอยู่ใน Standby Mode อย่างต่อเนื่อง ยังส่งผลให้ชิ้นส่วนภายในทำงานอยู่ตลอดเวลาโดยไม่จำเป็น ไม่จะเป็นระบบรับสัญญาณ รีโมต เซ็นเซอร์ต่าง ๆ หรือไฟแสดงสถานะ ส่งผลให้เกิดการสึกหรอของอุปกรณ์ได้เร็วขึ้น เสื่อมสภาพไว และส่งผลให้อายุการใช้งานของเครื่องลดลงในระยะยาว โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ต้องพร้อมตอบสนองคำสั่งตลอดเวลา เช่น สมาร์ตโฮม หน้าจอสัมผัส หรือเกมคอนโซล
3. เสี่ยงต่อไฟฟ้าลัดวงจรและอัคคีภัย
อุปกรณ์ที่เสียบปลั๊กทิ้งไว้ แม้จะอยู่ใน Standby Mode แต่ระบบภายในยังมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นหากเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด เช่น วงจรไฟฟ้าชำรุด อุปกรณ์เสื่อมสภาพ ความชื้นสะสม หรือกรณีที่เกิดไฟกระชากและฟ้าผ่า อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อไฟฟ้าลัดวงจรได้เช่นกัน
4. กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
Standby Mode เป็นหนึ่งปัจจัยที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้างอย่าง พลังงานต่าง ๆ สูญเสียไปจากการใช้งานในโหมดนี้ ไม่เพียงสิ้นเปลืองพลังงานโดยไม่จำเป็น แต่ยังนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมหาศาล
จากข้อมูลขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่าพลังงานที่สูญเปล่าจาก Standby Mode มีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 1% ของปริมาณการปล่อยทั่วโลก หรือราว 857 ล้านตันต่อปี
รวมอุปกรณ์กินไฟสูงเมื่อใช้ Standby Mode
1. เครื่องเล่นเกม
เครื่องเล่นรุ่นใหม่มักจะมี Standby Mode เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน ซึ่งทำให้บางคนอาจจะเผลอเปิดใช้งาน โดยไม่ทำการปิดเครื่องเล่นให้สมบูรณ์ และปิดแค่จอทีวีเท่านั้น ทำให้คอนโซลเกมยังทำงานอย่างต่อเนื่อง และสิ้นเปลืองพลังงานโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นควรปิดเครื่องให้สมบูรณ์ทุกครั้งหลังใช้งานและหมั่นอัปเดตซอฟต์แวร์เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง
2. กล่องรับสัญญาณดาวเทียม
แม้กล่องรับสัญญาณดาวเทียมจะมี Standby Mode ที่ใช้พลังงานต่ำ แต่หากปล่อยไว้โดยไม่ปิดเครื่อง ก็ยังคงกินไฟจำนวนมาก การปิดทีวีแล้วปล่อยให้กล่องอยู่ใน Standby Mode จึงเป็นการใช้พลังงานโดยไม่จำเป็น
3. เครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นเก่า
เครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นเก่ามักจะใช้พลังงานมากกว่าเครื่องรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีชิ้นส่วนชำรุดหรือทำงานผิดปกติ ซึ่งจะทำให้ใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ตัวอย่างเช่น ตู้เย็น ที่มีอายุเกิน 10-15 ปี มักมีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานต่ำกว่ารุ่นใหม่อย่างชัดเจน โดยตู้เย็นรุ่นเก่าใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 100 ถึง 200 หน่วย (kWh) ต่อเดือน หรือราว 1,200 ถึง 2,400 หน่วยต่อปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุการใช้งาน รุ่น และสภาพของเครื่อง ในขณะที่ตู้เย็นรุ่นใหม่สามารถลดการใช้ไฟลงได้ถึงครึ่งหนึ่ง
4. ไมโครเวฟ
แม้ไมโครเวฟที่อยู่ใน Standby Mode จะใช้พลังงานเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าปล่อยให้ไมโครเวฟอยู่ในโหมดนี้เป็นเวลานานก็สามารถสะสมเป็นพลังงานปริมาณมหาศาลได้ การปิดถอดปลั๊กไมโครเวฟเมื่อไม่ใช้งาน จึงช่วยลดการใช้พลังงานและประหยัดค่าไฟในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. คอมพิวเตอร์
การใช้งานคอมพิวเตอร์ใน Standby Mode ช่วยให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น แต่ก็ยังคงใช้พลังงานอยู่ ซึ่งเมื่อสะสมไปนาน ๆ ทำให้ค่าไฟสูงขึ้น การปิดเครื่องให้สมบูรณ์จึงเป็นวิธีการง่าย ๆ ที่ช่วยประหยัดพลังงานได้ในระยะยาว
วิธีประหยัดพลังงานจาก Standby Mode
1. ปิดสวิตช์หรือถอดปลั๊กเมื่อไม่ใช้งาน
อุปกรณ์ไฟฟ้าหลายชนิดยังคงกินไฟแม้อยู่ใน Standby Mode เช่น ทีวี กล่องรับสัญญาณ หรือไมโครเวฟ การปิดสวิตช์หรือถอดปลั๊กเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดที่จะช่วยลดการใช้พลังงานอย่างสูญเปล่าในทันที
2. ใช้ปลั๊กอัจฉริยะหรือสวิตช์ตั้งเวลาปิดเครื่อง
ควบคุมการเปิด-ปิดอุปกรณ์อัตโนมัติ ลดปัญหาการกินไฟจาก Standby Mode ในช่วงเวลาที่ไม่จำเป็น โดยที่ไม่ต้องคอยตรวจสอบตลอดเวลา
3. เลือกใช้อุปกรณ์ที่มีฉลากประหยัดพลังงาน
เลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผ่านมาตรฐานประหยัดพลังงาน เช่น ฉลากประหยัดไฟ เบอร์ 5 เพราะนอกจากจะกินไฟน้อยขณะใช้งาน ยังถูกออกแบบมาให้ลดการใช้พลังงานขณะอยู่ใน Standby Mode อีกด้วย
4. ปรับตั้งค่าการทำงานใน Standby Mode
อุปกรณ์ไฟฟ้าหลายรุ่นสามารถตั้งค่าให้ปิดฟังก์ชันบางอย่างขณะอยู่ใน Standby Mode ได้ เช่น ตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตหรือหยุดอัปเดตอัตโนมัติ เพื่อลดการใช้ไฟโดยไม่จำเป็น
อย่าปล่อยให้ Standby Mode กลายเป็นต้นเหตุของค่าไฟที่บานปลายโดยไม่จำเป็น แม้อุปกรณ์จะดูเหมือนปิด แต่พลังงานยังไหลอยู่ตลอดเวลา เพียงแค่ถอดปลั๊ก ปิดสวิตช์ หรือเลือกใช้อุปกรณ์ที่ช่วยจัดการพลังงานให้ดียิ่งขึ้น ก็ช่วยลดค่าไฟได้ในทุก ๆ วัน
ที่มา:
https://www.sensorfact.eu/blog/standby-power-what-is-it-and-how-can-you-prevent-it/
https://www.perle.com/articles/how-much-standby-power-do-we-actually-waste-40195170.shtml
https://pulseenergy.co.nz/our-blog/does-turning-everything-off-actually-save-power/
https://energyadvicehelpline.org/top-5-energy-draining-devices-to-never-leave-on-standby/
https://www.sarakadee.com/2015/06/26/standby/
https://www.sanook.com/news/9655762/