• 89 Views
  • Sep 12, 2024
  • 5 mins read

ใช้ไฟให้เซฟช่วงน้ำท่วม

ใช้ไฟให้เซฟช่วงน้ำท่วม

ฤดูฝนมาเยือนทีไร เป็นอันต้องหวั่นใจกับน้ำท่วมทุกปี เซฟไทยขอเป็นกำลังสำคัญในยามคับขันนี้ ด้วยการส่งต่อทริกที่สร้างความปลอดภัย หวังว่าจะช่วยให้อุ่นใจด้วยข้อปฏิบัติระหว่างประสบภัยน้ำท่วม วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น รวมถึงคำแนะนำสำหรับเตรียมรับมือน้ำท่วมครั้งต่อไป ข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ควรวกกลับมาอ่านเพื่อทบทวนข้อควรปฏิบัติและข้อควรระวังอย่างสม่ำเสมอเลยนะ

น้ำนองทั่วบ้าน ทำอย่างไรดี

  1. หากอยู่บ้านชั้นเดียว งดใช้ไฟฟ้าโดยเด็ดขาด ห้ามเปิดใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งในและนอกตัวบ้าน แม้ว่าอุปกรณ์อยู่เหนือระดับน้ำ โดยเฉพาะเวลาตัวเปียกหรือยืนแช่ในน้ำ
  2. ควรอยู่ห่างระบบจำหน่ายไฟ อาทิ เสาไฟฟ้า อย่างน้อย 2-3 เมตรเพื่อความปลอดภัย และหากเสาไฟฟ้าล้มหรือมีสายไฟขาดแช่น้ำ รีบแจ้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่หรือ PEA Contact Center โทร. 1129
  3. หากอยู่บ้าน 2 ชั้น ควรปลดสวิตช์เบรกเกอร์เฉพาะชั้นล่าง โดยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อดำเนินการอย่างปลอดภัย
  4. หากอยู่บ้าน 2 ชั้นและจำเป็นต้องอาศัยอยู่ภายในบ้านเป็นระยะเวลานาน ควรใช้ไฟฟ้าที่ชั้น 2 โดยอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นต้องแห้งสนิท หรือถูกขนย้ายขึ้นมาจากชั้นล่างก่อนจะสัมผัสน้ำ

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากพบผู้ถูกไฟฟ้าช็อต

  1. อย่าสัมผัสผู้บาดเจ็บโดยตรงและแยกผู้บาดเจ็บจากวงจรไฟฟ้า หากผู้บาดเจ็บหมดสติ ให้ใช้วัตถุไม่นำไฟฟ้าผลักหรือดึงบุคคลนั้นโดยเร็ว อาจใช้เชือกแห้ง สายยาง หรือกิ่งไม้ก็ได้ และห้ามลงไปยืนในน้ำที่มีกระแสไฟฟ้าเด็ดขาด
  2. หากผู้บาดเจ็บหยุดหายใจ ควรดำเนินการ CPR ด้วยขั้นตอนดังต่อไปนี้
  • เช็กว่าผู้บาดเจ็บหมดสติจริง ด้วยการตีไหล่และเรียกดัง ๆ เมื่อแน่ใจแล้วให้โทร. 1669 พร้อมแจ้งอาการกับเจ้าหน้าที่
  • จัดตำแหน่งก่อนเริ่ม CPR โดยให้ผู้ป่วยนอนหงาย แล้วนั่งคุกเข่าข้าง ๆ วางสันมือบนกระดูกหน้าอกของผู้บาดเจ็บ จากนั้นวางอีกมือซ้อนทับลงไป ตำแหน่งของมือควรอยู่ตรงกลางหน้าอกในระดับเดียวกับหัวนม
  • เริ่มกดหน้าอกด้วยความลึก 5 เซนติเมตร ด้วยอัตราเร็ว 100-120 ครั้ง/นาที ไปเรื่อย ๆ ระหว่างรอเจ้าหน้าที่ โดยไม่ต้องเป่าปากช่วยหายใจ เนื่องจากต้องผ่านการฝึกมาเท่านั้นจึงจะสามารถทำวิธีดังกล่าวได้

เตรียมตัวรับมือน้ำท่วมครั้งต่อไป

  1. ย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าขึ้นที่สูงหรือบนชั้น 2 ล่วงหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงความชื้นและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้าหลังน้ำท่วม
  2. ติดตั้งเบรกเกอร์แยกชั้นล่างกับชั้นบน โดยขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือช่างไฟฟ้าที่มีความชำนาญ เพื่อแยกวงจรไฟฟ้าชั้นบนกับชั้นล่าง
  3. เตรียมและจัดเก็บอุปกรณ์จำเป็นไว้ในที่แห้ง เช่น เชือก รองเท้ายาง กล่องพลาสติกกันความชื้น เป็นต้น

ที่มา:

pea.co.th

mea.or.th

bangpakok3.com

icemancool.com