• 161 Views
  • April 19, 2024
  • 5 mins read

ส่อง 5 เมกะเทรนด์พลังงานไฟฟ้าในอนาคต

ราว 2 ปีก่อน (ปี 2565) ประเทศไทยเริ่มตื่นตัวเรื่องพลังงานไฟฟ้า ภาครัฐมีนโยบายเปิดกว้างให้ภาคเอกชนเดินหน้าเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยมีผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้ารวมถึงมีการพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับไฟฟ้าโดยภาคเอกชนอย่างหลากหลาย เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัลดิสรัปชัน

ไม่เพียงเท่านั้น พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดยังมีบทบาทสำคัญต่อการแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศ หรือฝุ่น PM 2.5 หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นชัดอย่างเช่นประเทศจีน ที่โละระบบขนส่งมวลชนซึ่งเป็นของเก่าออก แล้วเปลี่ยนมาใช้รถเมล์ไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า หรือสกูตเตอร์ไฟฟ้าแทน พร้อมออกมาตรการจูงใจประชาชนด้านราคาและนโยบายด้านภาษีควบคู่กัน โดยมีเป้าหมายเพื่อล้มเลิกการจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันทั่วประเทศภายในปี 2568

หลังจากออกนโยบายนี้ จีนพิชิตปัญหามลภาวะทางอากาศได้จริง สำหรับประเทศไทยเองก็มีการออกนโยบายเพื่อสนับสนุนให้ผู้ใช้รถเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า หากทำได้อย่างจีน ก็อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมและช่วยให้อากาศบริสุทธิ์มากขึ้นได้

ดังนั้น เซฟไทยขอพาส่อง 5 เทรนด์แหล่งพลังงานทดแทนที่นำมาผลิตไฟฟ้าเพื่อเป็นทางเลือกในอนาคต มีอะไรบ้างไปดูกัน

เทรนด์พลังงานไฟฟ้าในอนาคต

1. พลังงานชีวภาพจากสาหร่าย (Algae Power)

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า ในสาหร่ายอุดมไปด้วยน้ำมันที่นำไปดัดแปลงพันธุกรรมผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพได้ ที่สำคัญสาหร่ายยังเจริญเติบโตได้ดีในน้ำเสีย และยังช่วยบำบัดน้ำเสียได้ด้วย หากปลูกสาหร่ายในพื้นที่ราว 2.5 ไร่ ก็จะได้ปริมาณน้ำมันมากถึง 34,000 ลิตร ปัจจุบันมีบริษัทในต่างประเทศได้พัฒนาการใช้พลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพจากสาหร่ายในรถยนต์ไฮบริดควบคู่แบตเตอรี่แล้ว

เทรนด์พลังงานไฟฟ้าในอนาคต

2. พลังงานจากกังหันลมแบบลอยบนอากาศ (Flying Wind Power)

พลังงานจากกังหันลมแบบลอยบนอากาศ คือ พลังงานที่ได้จากเครื่องจักรกล ซึ่งรับพลังงานจลน์จากการเคลื่อนที่บนอากาศผ่านตัวกังหัน แล้วเปลี่ยนลมให้กลายเป็นพลังงานกล จากนั้นเราก็นำพลังงานกลมาใช้ประโยชน์ได้ พลังงานจากกังหันลมแบบลอยบนอากาศจะติดตั้งบนพื้นที่หรือบริเวณในระดับความสูงเหนือพื้นดินประมาณ 1,000–2,000 ฟุต เพื่อรับแรงลมที่มากกว่าปกติ ที่มีความเร็วมากกว่ากังหันลมทั่วไปที่ติดตั้งแบบทาวเวอร์ประมาณ 5-8 เท่า นอกจากนั้น กังหันลมแบบลอยบนอากาศยังผลิตพลังงานได้มากกว่ากังหันลมขนาดใกล้เคียงกับที่ติดตั้งแบบทาวเวอร์ถึง 2 เท่า

เทรนด์พลังงานไฟฟ้าในอนาคต

3. พลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งได้ทุกพื้นผิว (Embeddable Solar Power)

พลังงานแสงอาทิตย์เป็นอีกหนึ่งพลังงานทดแทนที่มีความสำคัญและเราคุ้นเคยและมีการใช้แพร่หลายขึ้น ถือเป็นพลังงานทดแทนที่มีการตั้งเป้าไว้ว่าจะกลายเป็นหนึ่งในพลังงานสะอาดที่นำมาใช้เป็นในอนาคต ปัจจุบันมีการนำแผงโซลาร์เซลล์มาประยุกต์กับข้าวของเครื่องใช้ เช่น หลอดไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เคสโทรศัพท์มือถือพลังงานแสงอาทิตย์ หรือแม้แต่ตุ๊กตาติดหน้ารถพลังงานแสงอาทิตย์ โดยของใช้เหล่านี้จะมีแผงโซลาร์เซลล์ขนาดเล็กถูกติดตั้งมา และจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับผ่านแผงโซลาร์เซลล์เป็นพลังงานในการขับเคลื่อน

เทรนด์พลังงานไฟฟ้าในอนาคต

4. พลังงานจากร่างกายมนุษย์ (Human Power)

อาจสงสัยว่าพลังงานจากร่างกายมนุษย์สร้างพลังงานทดแทนได้ด้วยจริงหรือ คำตอบคือได้จริง เพราะปกติมนุษย์สร้างพลังงานผ่านการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของร่างกายอยู่แล้ว โดยมนุษย์เราอาจกลายเป็นแหล่งพลังงานสำคัญสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กที่พกติดตัว เช่น แบตเตอรี่สำรองสำหรับมือถือ หรือแล็ปท็อป แต่สิ่งที่สำคัญคือการคิดค้นอุปกรณ์สำหรับการแปลงและกักเก็บพลังงานจากการเคลื่อนไหวร่างกายของมนุษย์ที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักพัฒนาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีจะต้องทำขึ้นมาให้สำเร็จ เพื่อให้อุปกรณ์เหล่านี้กลายเป็นทางเลือกสำคัญในการใช้พลังงานทดแทนในอนาคต

5. พลังงานฟิวชั่น (Fusion Power)

พลังงานฟิวชั่น ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย ๆ จะเป็นพลังงานสะอาดที่เกิดจากการจำลองดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน.ได้ค้นคว้าวิจัยสร้างดวงอาทิตย์ประดิษฐ์เพื่อพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพลังงานฟิวชั่นที่ต่อยอดไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับไทยอาจจะต้องอดใจรอก่อน ปัจจุบันจีนได้พัฒนาเดินเครื่องให้มีความเสถียร ส่วนอังกฤษก็พัฒนาก้าวหน้าไปกว่าจีนแล้ว

ที่มา

PTT Group Rayong

DAILYNEWS

Techsauce