• 636 Views
  • July 25, 2024
  • 3 mins read

จัดการยังไงกับตู้เย็น? เมื่อไม่อยู่บ้านหลายวัน

ถือโอกาสลาพักร้อนทั้งที หลายคนอาจวางแผนไปเดินทางท่องเที่ยว บางคนอาจจะไปไกลถึงต่างประเทศ จัดกระเป๋าก็แล้ว เอาแมวไปฝากเลี้ยงก็แล้ว ปิดไฟ ปิดแอร์ ครบ! แต่ เอ๊ะ แล้วตู้เย็นนี่ต้องจัดการยังไงนะ?

 เชื่อว่าคงมีใครพบปัญหาเดียวกัน จะไปเที่ยวทั้งทียังต้องห่วงหน้าพะวงหลัง บ้างก็บอกว่าปลั๊กตู้เย็นต้องถอด บ้างก็บอกว่าเสียบทิ้งไว้ได้เลย สรุปต้องทำยังไงกันแน่? หยุดความกังวลแล้วเตรียมไปพักผ่อนกันแบบสบายใจได้เลย เพราะเซฟไทยรวมวิธีจัดการตู้เย็นเมื่อไม่อยู่บ้านมาให้แล้ว 

ตู้เย็น

ต้องถอดปลั๊กตู้เย็นไหม?

คำถามยอดฮิตที่ใคร ๆ ก็อยากรู้ เพราะโดยปกติแล้ว ‘ตู้เย็น’ คือหนึ่งในไม่กี่เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราต้องเสียบปลั๊กไว้ตลอดเวลา เพื่อเก็บรักษาอาหารให้ไม่บูด ไม่เน่าเสีย เเละยังคงคุณภาพที่ดีไว้อยู่เสมอ 

อีกอย่างตู้เย็นแทบจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟน้อยที่สุด โดยตู้เย็นความจุ 7-10 คิว จะกินไฟเพียงแค่ 70 – 175 วัตต์ต่อชั่วโมง หรือแค่ 28 – 58 สตางค์ต่อชั่วโมงเท่านั้น ในขณะที่เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างเครื่องซักผ้าหรือเครื่องปรับอากาศ อาจกินไฟสูงสุดถึง 13 บาทต่อชั่วโมง อ้างอิงจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 

ดังนั้น ด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่หนักหน่วง จึงมีเพียงไม่กี่กรณีที่เราควรจะถอดปลั๊กตู้เย็น ได้แก่

  • ตู้เย็นเกิดการชำรุดและเสียหาย
  • ต้องการทำความสะอาดล้างตู้เย็น
  • ตู้เย็นไม่ได้ถูกใช้งานเป็นเวลานาน

ตู้เย็น

แล้วแค่ไหนถึงเรียกว่า ‘นาน’

ถ้าเราต้องถอดปลั๊กตู้เย็น จัดการกับอาหาร ละลายน้ำแข็งในตู้เย็น เพียงแค่เพราะจะไม่อยู่บ้านเพียง  2-3 วัน คงไม่คุ้มเหนื่อยใช่ไหมล่ะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรทราบก่อนจะทำอะไรกับตู้เย็นคือ จะไม่อยู่บ้านนานเท่าไหร่? กี่วัน? หากไม่เกินสัปดาห์  ถ้าตู้เย็นและสายไฟไม่มีร่องรอยการชำรุดหรือเสียหายอะไร ก็ควรเสียบปลั๊กตู้เย็นไว้ แต่หากมีแผนจะไม่อยู่บ้านเป็นเดือน ๆ ก็ควรจะพิจารณาการถอดปลั๊กนะ นอกจากจะช่วยลดการสิ้นเปลืองพลังงานโดยใช่เหตุแล้ว ยังช่วยป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากไฟฟ้ารั่วไหลอีกด้วย 

ขั้นตอนการจัดการตู้เย็นมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย

สิ่งที่ควรทำก่อนออกทริปยาว (1 เดือนขึ้นไป)

  • นำอาหารหมดออายุหรืออาหารที่เน่าเสียง่ายโดยไม่มีความเย็นออกจากตู้เย็นก่อน เพื่อป้องกันกลิ่นไม่พึงประสงค์เมื่อกลับมา
  • หากตู้เย็นไม่มีระบบละลายน้ำแข็งอัตโนมัติ ควรละลายน้ำแข็งในตู้เย็นอย่างระมัดระวัง และเช็ดทำความสะอาดภายในตู้เย็นให้แห้งสนิท อ่านเพิ่มเติมได้ที่: วิธีละลายน้ำแข็ง ตู้เย็น ที่ถูกต้องปลอดภัย ทำง่าย ไม่กี่นาทีก็เสร็จ!
  • ถอดปลั๊กตู้เย็น
  • แง้มประตูตู้เย็นไว้เล็กน้อย เพื่อป้องกันกลิ่นอับชื้น

สิ่งที่ควรทำก่อนออกทริปสั้น (ต่ำกว่า 1 เดือน)

  • เช็กอุณหภูมิในตู้เย็นว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม  เพื่อประหยัดพลังงาน และรักษาคุณภาพของอาหาร โดยตัวตู้ควรทำความเย็นไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส ส่วนช่องแช่แข็งไม่ควรเกิน -18 องศาเซลเซียส ตามมาตรฐานของ FDA
  • เคลียร์ตู้! นำอาหารหมดอายุ หรืออาหารที่เน่าเสียง่ายออกจากตู้เย็นให้หมด เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรา แบคทีเรีย และกลิ่นไม่พึงประสงค์เมื่อกลับมา อีกทั้งยังเพิ่มพื้นที่ในตู้เย็น ทำให้ตัวเครื่องไม่ทำงานหนักจนเกินไป เพราะความเย็นสามารถไปได้อย่างทั่วถึง

ไม่ยากเลยใช่ไหมล่ะ? เพียงเท่านี้ทุกคนก็จะไปเที่ยวกันได้แบบหายห่วงแล้ว แถมขากลับยังหิ้วของฝากกลับมาได้อย่างสบายใจ เพราะตู้เย็นมีพื้นที่ไว้รองรับแล้ว เซฟไทยหวังว่าทุกคนจะเอาทริคเหล่านี้ไปใช้กันนะ

ที่มา

PEA

Sanook

tools.in.th