• 247 Views
  • May 09, 2024
  • 10 mins read

อย่ามองข้าม ! ‘สายดิน’ และ ‘เครื่องตัดไฟรั่ว’

เราสามารถเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้าได้ด้วยการต่อสายดินและการติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่ว เพราะนี่คืออุปกรณ์จำเป็นที่จะช่วยป้องกันการเกิดไฟฟ้าดูดได้ ทั้งนี้ แม้ว่า ‘สายดิน’ และ “เครื่องตัดไฟรั่ว” จะมีความเหมือนกันตรงที่ช่วยป้องกันไฟฟ้าดูด แต่ก็มีส่วนที่แตกต่างกันอยู่ เซฟไทยจะชวนไปรู้จักและหาคำตอบนั้นกัน

สายดิน

  • สายดิน

ที่ผ่านมาอาจเคยได้ยินคำว่า สายดิน อยู่บ่อย ๆ แต่รู้หรือไม่ว่าจริง ๆ แล้ว สายดิน คือ ตัวนำที่ต่อจากโครงโลหะของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อนำกระแสไฟฟ้าที่ไม่ต้องการให้ไหลลงสู่ดิน เช่น ในกรณีที่เกิดไฟฟ้ารั่ว กระแสไฟที่รั่วนั้นจะไหลลงดินแทนการไหลเข้าสู่ร่างกายเรา ทำให้ป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดไฟฟ้าดูดที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ยิ่งจำเป็นต้องมีการต่อสายดินลงดิน เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น ตู้เย็น เป็นต้น

เครื่องตัดไฟรั่ว

  • เครื่องตัดไฟรั่ว

เครื่องตัดไฟรั่ว หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เครื่อง RCD (Residual Current Device) คือ อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ทำหน้าที่ตรวจจับเหตุการณ์ไฟฟ้ารั่ว และจะทำการตัดไฟทันทีเพื่อรักษาชีวิตของผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูด รวมทั้งป้องกันทรัพย์สินเสียหายอันเนื่องมาจากไฟไหม้ที่เกิดจากไฟฟ้ารั่ว โดยปกติแล้ว เครื่องตัดไฟรั่วจะติดตั้งบริเวณแผงไฟหลักของบ้านพักอาศัย หรือในส่วนของบ้านที่มีความเสี่ยงในการเกิดไฟฟ้าดูดเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ เครื่องตัดไฟรั่วนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

1. RCBO (Residual current circuit breaker with overcurrent protection) ใช้ตัดวงจรไฟฟ้าได้ทั้งกรณีที่เกิดกระแสไฟฟ้ารั่ว กระแสไฟฟ้าเกิน และกระแสไฟฟ้าลัดวงจร

2. RCCB (Residual current circuit breaker) ใช้ตัดวงจรไฟฟ้าได้เฉพาะกรณีเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วเท่านั้น จึงมักต้องติดตั้งร่วมกับฟิวส์หรือเซอร์กิตเบรกเกอร์เสมอ

 

แตกต่างในความเหมือน

แม้ว่าสายดินและเครื่องตัดไฟรั่วจะทำหน้าที่เหมือนกันตรงที่ป้องกันไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต แต่ก็มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ตรงที่

  • สายดินจะมีสายดินเป็นตัวกลางนำกระแสไฟฟ้ารั่วลงสู่พื้นดิน และนับว่าเป็นอุปกรณ์จำเป็นอันดับต้น ๆ ที่ควรคำนึงถึง
  • ส่วนเครื่องตัดไฟรั่วนั้นจะไม่มีสายดิน การทำงานจะสามารถตัดไฟฟ้าได้ก็ต่อเมื่อตรวจจับกระแสไฟฟ้าที่รั่วออกมาเกินกำหนด

อย่างไรก็ตาม ระบบไฟฟ้าที่สมบูรณ์ ควรมีทั้งสายดินและเครื่องตัดไฟรั่วให้ทำงานร่วมกันเพื่อช่วยป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่วได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

จะให้เวิร์กต้องติดตั้งให้ถูกต้อง

สายดิน

1. การต่อสายดินแบบลงดินที่เมนสวิตช์ เป็นการต่อสายนิวทรัล (N) ลงดิน ซึ่งสายดินและสายนิวทรัลสามารถต่อร่วมกันได้เพียงแห่งเดียวที่จุดต่อลงดินภายในตู้เมนสวิตช์ และห้ามต่อร่วมกันในที่อื่นเพิ่มอีก

2. การต่อสายดินแบบลงดินของเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นการเชื่อมต่อสายไฟจากที่ต่อสายดินไว้ให้เข้ากับโครงของเครื่องใช้ไฟฟ้า เดินสายต่อลงดินไปที่เมนสวิตช์ ซึ่งสายดินจะถูกเดินไปควบคู่กับสายที่จ่ายไฟให้เครื่องใช้ไฟฟ้า

เครื่องตัดไฟรั่ว

1. ต้องติดตั้งร่วมกับสายดิน เพราะสายดินจะช่วยนำไฟฟ้าที่รั่วไหลลงดินโดยไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่สัมผัส และช่วยให้อุปกรณ์ป้องกันกระแสเกิน (เซอร์กิตเบรกเกอร์) รวมทั้ง RCD ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. ควรติดตั้งในวงจรย่อยที่มีความเสี่ยงสูง เช่น บริเวณที่เปียกชื้น ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ ห้องครัว ห้องใต้ดิน วงจรไฟฟ้าภายนอกอาคาร รวมไปถึงวงจรย่อยสำหรับเครื่องทำน้ำอุ่น

5. RCD ต้องมีพิกัดกระแสไม่น้อยกว่าพิกัดกระแสของเครื่องป้องกันกระแสเกิน

6. ต้องเป็นชนิดที่ปลดสายไฟทุกเส้นออกจากวงจร รวมทั้งสายนิวทรัล ยกเว้นสายนิวทรัลนั้นมีการต่อลงดินเรียบร้อยแล้ว

7. หากต้องการป้องกันอัคคีภัย ควรติดตั้ง RCD ที่ตำแหน่งหลังจากเซอร์กิต เบรกเกอร์เมน โดยเลือก RCD ขนาดพิกัดกระแสรั่วมากกว่า 30 mA (เช่น 100 mA หรือ 300 mA) และควรเป็นชนิดหน่วงเวลา (type S)

8. ควรตรวจสอบการทำงานของ RCD อย่างสม่ำเสมอหรืออย่างน้อยทุก 6 เดือน โดยกดที่ปุ่มทดสอบการทำงานของเครื่อง RCD

 

ที่มา:

https://www.saengsaha.com

https://safesavethai.com