• 156 Views
  • August 08, 2024
  • 3 mins read

สายดิน…จำเป็นแค่ไหน

รู้หรือไม่ว่า อุบัติเหตุเกี่ยวกับไฟฟ้าอย่างไฟช็อตและไฟดูด เป็นสิ่งที่เราสามารถป้องกันได้ด้วยการติดตั้งระบบสายดิน ที่ช่วยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ได้รับอันตราย หากเครื่องใช้ไฟฟ้าเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วหรือเกิดกระแสไฟลัดวงจร เพราะกระแสไฟฟ้าดังกล่าวส่วนใหญ่จะได้ไหลกลับระบบ โดยผ่านทางระบบสายดิน ทำให้ไม่ไหลเข้าสู่ตัวเรา

ไปรู้จักกับสายดินกัน

สายดิน ชื่อนี้เรามักได้ยินกันมานาน แต่อาจยังไม่แน่ใจว่าคืออะไร  จริง ๆ แล้ว สายดินก็คือ สายไฟเส้นหนึ่งที่มีไว้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้า โดยปลายด้านหนึ่งของสายดินจะต้องต่อลงดิน ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งต่อเข้ากับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการให้มีศักย์ไฟฟ้าเป็นศูนย์เท่ากับพื้นดิน

savethai

ทำไมต้องมีสายดิน

การติดตั้งระบบสายดินเป็นสิ่งที่ทุกบ้านควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะช่วยป้องกันไม่ให้ถูกไฟดูด เมื่อมีกระแสไฟฟ้ารั่วจากเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยกระแสไฟฟ้าที่รั่วจะไม่ไหลผ่านร่างกายซึ่งมีความต้านทานสูง แต่จะไหลลงดินทางสายดิน ซึ่งมีความต้านทานต่ำกว่า และเมื่อมีกระแสไฟฟ้ารั่ว สายดินช่วยให้เครื่องตัดไฟอัตโนมัติตัดกระแสไฟฟ้าออกทันที

savethai

เครื่องใช้ไฟฟ้าใดที่ต้องมีสายดิน

แล้วเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดใดบ้างที่ต้องมีสายดิน คำตอบก็คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีเปลือกหุ้มภายนอกทำด้วยโลหะทุกชนิด จำเป็นต้องมีการต่อสายดิน โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำหรือความร้อน เช่น ตู้เย็น เตาไฟฟ้า เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในบ้าน (Wall Charge) เป็นต้น และเต้าเสียบที่ใช้งานจำเป็นต้องมีขั้วสายดิน (3 ขา) 

การต่อสายดินจะมี 2 ลักษณะ คือ

1.      ระบบไฟฟ้าที่ไม่มีระบบสายดิน แต่มีการต่อลงดินที่เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยตรง

2.      ระบบไฟฟ้าที่มีระบบสายดิน

ระบบสายดินตามมาตรฐานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ปัจจุบันระบบสายดินที่ติดตั้งในบ้านถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการด้านความปลอดภัยที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ออกเป็นข้อบังคับให้ผู้ใช้ไฟฟ้าระดับครัวเรือนต้องปฏิบัติตาม เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้ไฟฟ้า

savethai

องค์ประกอบหลักของสายดิน

สายดินมีองค์ประกอบหลักอยู่ 2 ส่วน ได้แก่

1. สายตัวนำไฟฟ้า (สายดิน) เป็นสายดินที่ใช้ในระบบไฟฟ้าทั่วไป คือ สายไฟฟ้าชนิดแกนเดียว ภายในสายประกอบด้วยลวดตัวนำที่ทำมาจากทองแดง และหุ้มด้วยฉนวนประเภท PVC โดยตามมาตรฐานได้กำหนดให้ใช้สายที่มีฉนวนสีเขียวหรือสีเขียวสลับแถบสีเหลือง เป็นสีเฉพาะของสายดิน

2.หลักดิน เป็นโลหะตัวนำไฟฟ้า มีหน้าที่ถ่ายเทประจุไฟฟ้าให้กระจายลงสู่พื้นดิน โดยเมื่อมีกระแสไฟฟ้ารั่วจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต่อสายดินอยู่ กระแสไฟฟ้าที่รั่วก็จะเดินทางจากสายดินมาสู่หลักดินแล้วถ่ายเทลงสู่พื้นดิน ทั้งนี้ หลักดินที่ใช้กับระบบสายดินมีลักษณะทางกายภาพเป็นแท่งโลหะ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะใช้เป็นแท่งทองแดง หรือเหล็กชุบทองแดงเพื่อป้องกันสนิมและการกัดกร่อน

อย่างไรก็ตาม ตามมาตรฐานกำหนดให้หลักดินที่จะนำมาติดตั้งกับระบบไฟฟ้าต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 มิลลิเมตร  (5/8นิ้ว) และมีความยาว 2.4 เมตรที่ใช้ตอกลงไปในพื้นดิน และมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าของประเทศไทยได้กำหนดค่าความต้านทานของหลักดินที่ตอกลงไปต้องไม่เกิน 5 โอห์ม

ที่มา

PEA

https://www.unitis.co.th