• 187 Views
  • Apr 26, 2024
  • 21 mins read

แบบนี้ต้องตะโกน! ไฟฟ้าสีเขียวในไทยที่ใกล้เป็นจริง

แบบนี้ต้องตะโกน!  ไฟฟ้าสีเขียวในไทยที่ใกล้เป็นจริง   

เมื่อพลังงานสะอาดเป็นความหวังใหม่ที่จะช่วยให้โลกเรามีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ความตื่นตัวในการหันมาใช้ ‘ไฟฟ้าสีเขียว’ หรือพลังงานที่ได้จากพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ  ซึ่งกลายเป็นเทรนด์ไปทั่วโลก สำหรับเมืองไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีความพร้อมสูงด้านการผลิตและจัดหาพลังงานสะอาด ล่าสุด พร้อมจำหน่ายไฟฟ้าสีเขียวจากแหล่งผู้ผลิตที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เริ่มตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป

ไฟฟ้าสีเขียว

• กติกาการค้าโลกใหม่ ดันไทยให้เร่งเครื่อง

ความตื่นตัวอย่างจริงจังของบ้านเรา คงต้องย้อนไปเมื่อปี 2564 นับตั้งแต่ที่สหภาพยุโรป (European Union หรือ EU) เขย่าอุตสาหกรรมส่งออกทั่วโลกให้สั่นสะเทือนจากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM) เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการลดคาร์บอนไดออกไซด์ (European Green Deal)ของ EU ที่ตั้งเป้าจะลดให้เหลือ 55% ในปี 2573

มาตรการ CBAM คือ การกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาใน EU ซึ่งจริง ๆ แล้ว มีหลายประเทศทั่วโลกต่างเทใจให้กับมาตรการหรือนโยบายลดโลกร้อน อาทิ นโยบาย Green Plan ของสิงคโปร์ Green New Deal ของเกาหลีใต้ และ Green Growth Strategy ของญี่ปุ่น

ส่วนยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนฯ สูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากคือจีน ก็หันมาให้ความสำคัญเรื่องนี้เช่นกัน โดยปีนี้จะจัดเก็บค่าธรรมเนียมปรับคาร์บอน ณ พรมแดน (Border Carbon Adjustment: BCA) สำหรับสินค้าที่นำเข้ามายังสหรัฐฯ และมีการปล่อยคาร์บอนในปริมาณที่สูง ป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอนจากการนำเข้าสินค้าในประเทศที่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมต่ำกว่าสหรัฐฯ

ไฟฟ้าสีเขียว

• CBAM กับผลกระทบต่อไทย

มาตรการ CBAM เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2566-2568 โดยผู้นำเข้าจะต้องรายงานปริมาณก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยงานประสานงานกลางของ CBAM และตั้งแต่ตุลาคม 2569 เป็นต้นไป จะต้องรายงานข้อมูล พร้อมยื่นหลักฐานการจ่ายค่าธรรมเนียม CBAM Certificates ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี

อย่างไรก็ตาม CBAM ได้ส่งผลกระทบให้ยอดการส่งออกสินค้าของไทยไปยังกลุ่มประเทศ EU มีจำนวนลดลง จนในที่สุดจึงนำมาสู่การกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว หรือ Utility Green Tariff (UGT) เพื่อให้ไทยมีไฟฟ้าสีเขียวใช้ด้วยอัตราค่าไฟที่ชัดเจน หรือคิดเป็นราคาเฉลี่ยที่ 4.55 บาท สูงกว่าราคาค่าไฟเฉลี่ยปัจจุบันที่ 4.18 บาท โดยเริ่มจำหน่ายตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ UGT ยังอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถซื้อไฟฟ้าสีเขียวได้โดยตรงจากแหล่งผลิตที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป็นการซื้อควบคู่กับการออกใบรับรองพลังงานสีเขียวที่เรียกว่า Renewable Energy Certificate (REC) ซึ่งจะสำแดงถึงการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นรายชั่วโมงตามมาตรฐานสากล เป็นการยืนยันถึงการปฏิบัติตามเงื่อนไข CBAM ช่วยลดอุปสรรคข้อกีดกันทางภาษี โดยเฉพาะมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน EU

ไฟฟ้าสีเขียว

• รูปแบบ UGT แตกต่างตามเงื่อนไข

ในเบื้องต้นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดจะทำสัญญาซื้อขายและจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หลังจากนั้นทั้ง 3 การไฟฟ้าจะส่งจ่ายไฟฟ้าสีเขียวให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ทำสัญญาซื้อไฟฟ้าสีเขียว

อย่างไรก็ตาม อัตรา UGT จะกำหนดเป็น 2 รูปแบบ ซึ่งมีเงื่อนไขแตกต่างกัน โดยรูปแบบแรกคือ

  • ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องการเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า (UGT1) หรือโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเดิมที่มีอยู่แล้วของ กฟภ. และ กฟน. เหมาะสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดกลาง (ประเภท 3) กิจการขนาดกลาง (ประเภท 4) และกิจการเฉพาะอย่าง (ประเภท 5) เช่น โรงแรมหรือกิจการให้เช่าพักอาศัย โดยมีระยะเวลาการใช้ไฟสีเขียวเพียง 1 ปี และได้ REC จากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 7 โรงของ กฟผ.ในราคาตลาด

ทั้งนี้ UGT1 มีการกำหนดคิดอัตราค่าไฟฟ้าโดยอ้างอิงจากค่าไฟฐานเบื้องต้นที่คิดค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที หรือ Ft) บวกกับอัตราค่าบริการส่วนเพิ่ม (Premium หรือ P) ซึ่งมีราคาเฉลี่ยที่ 0.0594 บาทต่อหน่วย เช่น ค่าไฟปัจจุบันในงวดมกราคมถึงเมษายน 2567 อยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย จะต้องบวกเพิ่มอีก 0.0594 บาท ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟสีเขียวรูปแบบนี้ต้องเสียค่าไฟประมาณ 4.23 บาทต่อหน่วย

  • ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องการเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า (UGT2) ให้บริการเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้ากิจการขนาดกลาง (ประเภท 4) และกิจการเฉพาะอย่าง (ประเภท 5) เท่านั้น โดยใช้วิธีการนับหน่วย และได้ REC จากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ภายใต้โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FIT) ปี 2565-2573 ระยะเวลาการใช้ขั้นต่ำ 10 ปี นับจากวันที่เริ่มรับ UGT2 และมีบทปรับสัญญาหากผิดสัญญา อีกทั้งยังไถ่ถอนสิทธิ REC ในนามผู้ใช้ไฟฟ้าได้ปีละ 1 ครั้ง และการปรับปรุงหน่วยจริงตามรอบค่า Ft

 

ทั้งนี้ ผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวจะสามารถเลือกรับ REC จากกลุ่มโรงไฟฟ้าใหม่ใน Portfolio ใดก็ได้ตามที่เลือก ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 2 Portfolio ได้แก่ Portfolio A สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 2568-2570 ค่าไฟต่อหน่วยอยู่ที่ 4.56 บาท และ Portfolio B สำหรับโรงไฟฟ้าที่เริ่มดำเนินการระหว่างปี 2571-2573 ค่าไฟต่อหน่วยอยู่ที่ 4.54 บาท โดยจะเก็บอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวสำหรับ UGT2 ทั้ง Portfolio A และ Portfolio B เฉลี่ยที่ 4.55 บาทต่อหน่วย

ที่มา

KResearch Center

THAIPUBLICA

SET

ERDI-CMU

PETROMAT