ถ้าจะเทียบ 3 ฤดูกาลของไทยนั้น ฤดูหนาวถือเป็นช่วงที่สภาพอากาศแห้งและมีลมพัดแรงมากที่สุด นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้และลุกลามอย่างรวดเร็ว สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจนยากจะประเมินค่าได้
เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากเหตุการณ์ไฟไหม้ที่อาจเกิดได้ง่ายในช่วงฤดูหนาว เซฟไทยมีคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้า และข้อควรระวังต่าง ๆ เพื่อช่วยลดความเสี่ยง และเพิ่มความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
1.หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดีอยู่เสมอ โดยเฉพาะอุปกรณ์ไฟฟ้าที่อยู่กลางแจ้ง หรือที่ที่มีแสงแดดส่องถึง และบริเวณที่อยู่ใกล้กับแหล่งความร้อน ซี่งมีแนวโน้มมีความเสี่ยงที่จะเกิดไฟไหม้ได้ง่าย
2.ตรวจสอบความพร้อม และสังเกตความผิดปกติของอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะหากสายไฟฟ้ามีร่องรอยชำรุด เช่น ฉีกขาด บวม สีเปลี่ยน มีกลิ่นไหม้ ควรรีบซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่ทันที
3.หลีกเลี่ยงการเสียบปลั๊กไฟหลายอันในเต้าเสียบอันเดียว เพราะอาจเกิดไฟฟ้าเกินพิกัด ตลอดจนไม่เสียบปลั๊กไฟค้างไว้นาน ๆ เพราะหากเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร อาจทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้เช่นเดียวกัน ทางที่ดีควรถอดปลั๊กไฟทุกครั้งหลังเลิกใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้า
4.ติดตั้งเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติเพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรและไฟรั่ว ตลอดจนควรป้องกันความเสี่ยงด้วยการติดตั้งสายดินกับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟสูง เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น
5.จัดวางถังดับเพลิงในจุดที่หยิบใช้งานได้สะดวก รวมถึงติดตั้งเครื่องตรวจจับควันไฟและกริ่งสัญญาณเตือนไฟ ไหม้ในบริเวณที่เสี่ยงการเกิดเพลิงไหม้ เช่น ห้องครัว ห้องพระ ห้องนอน เป็นต้น
6.ระมัดระวังการประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับไฟทุกประเภท โดยเฉพาะก่อนออกจากบ้าน อย่าลืมตรวจดูว่าดับธูปเทียน ถอดปลั๊กไฟ ปิดสวิตซ์ไฟ และวาล์วถังแก๊สให้สนิทแล้วหรือยัง
7.ห้ามจุดไฟเผาตอฟางข้าว หญ้าแห้งหรือขยะในช่วงที่มีลมพัดแรง เพราะอาจพัดพาประกายไฟไลุกลามติดวัสดุอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงได้ ทำให้เกิดไฟไหม้ในวงกว้างอย่างรวดเร็วและรุนแรง
8.กำจัดวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงทุกชนิด รวมไปถึงเฝ้าระวังการประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับไฟทุกประเภท เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ในช่วงฤดูหนาวที่มีสภาพอากาศแห้งกว่าปกติ
ที่มา