สงกรานต์เป็นเทศกาลแห่งความสุขที่หลายคนรอคอย ด้วยบรรยากาศสนุกสนานของการเล่นน้ำคลายร้อน แต่สิ่งที่มาพร้อมกับความชุ่มฉ่ำก็คือ ความเสี่ยงจากไฟฟ้าที่หลายคนอาจมองข้าม ไม่ว่าจะเป็นสายไฟเปียก ปลั๊กไฟโดนน้ำ หรือการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าในพื้นที่เปียกชื้น ซึ่งอาจนำไปสู่ไฟช็อตที่ส่งผลให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ในบทความนี้เซฟไทยจะมาแนะนำวิธีป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าในช่วงสงกรานต์ เพื่อให้ทุกคนสามารถสนุกสนานกับการเล่นน้ำได้อย่างปลอดภัยและไร้กังวล
ทำไมเล่นน้ำจึงเสี่ยงไฟช็อต
ถึงแม้ว่าน้ำจะไม่สามารถนำไฟฟ้าได้ แต่หากปนเปื้อนสารบางประเภท เช่น เกลือ ดินสอพอง หรือคลอรีนจากน้ำประปา จะทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านสารละลายเหล่านั้นได้ ดังนั้นการเล่นน้ำสงกรานต์ใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้า ปลั๊กไฟ หรือสายไฟที่ชำรุด อาจทำให้เกิดไฟรั่วหรือไฟช็อตซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายจนถึงขั้นบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้
วิธีเล่นน้ำสงกรานต์ให้ปลอดภัยจากไฟช็อต
เพื่อให้ช่วงสงกรานต์ที่ทุกคนรอคอยเต็มไปด้วยความสนุก สิ่งที่สำคัญคือการตระหนักถึงการป้องกันตัวจากความเสี่ยงที่อาจเกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง ดังนี้
1. ตรวจสอบสภาพแวดล้อมก่อนเล่นน้ำ
ก่อนเล่นน้ำควรตรวจสอบบริเวณโดยรอบว่ามีปลั๊กไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟช็อตหรือไม่ หากพบเห็นควรเก็บหรือย้ายไปยังที่ปลอดภัยและห่างจากบริเวณที่เล่นน้ำ เพื่อไม่ให้สาดน้ำไปโดนอุปกรณ์ไฟฟ้า
2. เลี่ยงการสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้าขณะที่ตัวเปียก
ห้ามสัมผัสวัสดุนำไฟฟ้าทุกชนิดขณะที่ตัวเปียก เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดไฟช็อตได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิด-ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้า เสียบปลั๊ก ชาร์จโทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่การจับเสาเหล็ก ป้ายโฆษณา และราวสะพานลอย ซึ่งเราอาจเผลอสัมผัสและทำให้กระแสไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกายโดยที่ไม่รู้ตัว
3. เช็ดตัวให้แห้งทันทีหลังเล่นน้ำเสร็จ
หลังเล่นน้ำเสร็จควรเช็ดตัวให้แห้งและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้าในขณะที่ร่างกายเปียก ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไฟช็อตได้มากขึ้น
4. ติดตั้งเครื่องตัดไฟอัตโนมัติ
ตรวจสอบเครื่องตัดไฟ (Residual Current Device: RCD) ให้อยู่สภาพพร้อมใช้งานเสมอ เพื่อความปลอดภัยในกรณีฉุกเฉิน เช่น หากมีไฟฟ้ารั่วจากเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องตัดไฟจะตัดกระแสไฟทันทีช่วยป้องกันอันตรายจากไฟช็อตได้
5. ตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยในพื้นที่จัดงาน
หากเข้าร่วมงานสงกรานต์ในพื้นที่จัดงานกลางแจ้งหรือพื้นที่ที่การจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น อุโมงค์น้ำหรือปาร์ตี้โฟม ควรตรวจสอบว่าภายในงานมีการติดตั้งอุปกรณ์ฉีดน้ำ ระบบไฟฟ้า และสายไฟอย่างปลอดภัยหรือไม่
6. ตรวจเช็กเส้นทางขบวนรถแห่
ก่อนเล่นน้ำควรตรวจสอบเส้นทางขบวนรถแห่ล่วงหน้าอย่างละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสายไฟพาดผ่านในระดับต่ำหรือสิ่งกีดขวางที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ช่วยลดความเสี่ยงในการเกี่ยวสายไฟ ซึ่งอาจนำไปสู่อุบัติเหตุไฟฟ้าช็อตที่เป็นอันตรายต่อทั้งผู้ร่วมขบวนและประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้น
วิธีการรับมือ เมื่อเจอคนถูกไฟช็อต
หากออกไปเล่นน้ำสงกรานต์แล้วพบเจอคนถูกไฟช็อต ควรตั้งสติและปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้เพื่อช่วยเหลืออย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
1. ตัดกระแสไฟก่อนเข้าช่วยเหลือ
ควรตัดกระแสไฟให้เร็วที่สุด ด้วยการรีบปิดสวิตช์ไฟ ปลดคัตเอาต์ หรือถอดปลั๊กในบริเวณที่เกิดเหตุ เพื่อลดความเสี่ยงที่กระแสไฟจะส่งอันตรายต่อผู้ประสบเหตุไฟช็อตและผู้ที่เข้าช่วยเหลือ
2. ไม่สัมผัสตัวผู้ที่ถูกไฟช็อตด้วยมือเปล่า
การสัมผัสตัวผู้ที่ถูกไฟช็อตด้วยมือเปล่าอาจทำให้กระแสไฟอาจไหลผ่านร่างกายของผู้ที่เข้าช่วยเหลือได้ จึงควรใช้วัสดุที่ไม่นำไฟฟ้าในการแยกผู้ประสบเหตุจากแหล่งไฟฟ้า เช่น ไม้แห้ง เชือกแห้ง ผ้าแห้ง ถุงมือยาง เป็นต้น
3. ระวังพื้นที่ที่น้ำขัง
หากเกิดไฟช็อตในบริเวณที่มีน้ำ ควรเช็กให้แน่ใจว่ากระแสไฟฟ้าถูกตัดก่อนเข้าไปช่วยเหลือ เพราะน้ำที่มีการปนเปื้อนเป็นตัวนำไฟฟ้าได้
4. ตรวจสอบอาการเบื้องต้นและเข้าช่วยเหลือทันที
หากผู้ถูกไฟช็อตหมดสติ ไม่หายใจ หรือหัวใจหยุดเต้น ให้รีบทำการช่วย CPR ทันที และหากมีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ควรใช้ร่วมกับการทำ CPR เพื่อลดความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
5. แจ้งสายด่วนฉุกเฉิน
โทรแจ้งสายด่วนฉุกเฉิน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด พร้อมแจ้งรายละเอียดของเหตุการณ์ให้เจ้าหน้าที่ทราบ
เทศกาลสงกรานต์จะสนุกยิ่งขึ้นหากทุกคนเล่นน้ำอย่างปลอดภัย การป้องกันไฟช็อตไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ใส่ใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวและรู้วิธีการรับมือเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันอันตรายได้ ไม่เพียงแค่ช่วงสงกรานต์ แต่ยังสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อความปลอดภัยในทุก ๆ วัน แล้วอย่าปล่อยให้ความประมาททำให้ช่วงเวลาที่ควรสนุกต้องสะดุด
ที่มา:
https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=33398&deptcode=brc