• 2,314 Views
  • Aug 22, 2023
  • 5 mins read

คลายข้อสงสัย…อยู่ใกล้เสาไฟฟ้าแรงสูงอันตรายจริงหรือ?

หลายคนอาจมีความเชื่อว่า การเข้าใกล้ ‘เสาไฟฟ้าแรงสูง’ จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ หรือจะกันพลังงานดี ๆ ไหลเข้าสู่บ้านตามหลักฮวงจุ้ย วันนี้เซฟไทยจะพาทุกคนไปคลายข้อสงสัยกันว่าเสาไฟฟ้าแรงสูงอันตรายจริงหรือ และควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อต้องเข้าใกล้

เสาไฟฟ้าแรงสูงคืออะไร?

เสาไฟฟ้าแรงสูงคืออะไร

เสาไฟฟ้าแรงสูง คือ สิ่งก่อสร้างที่ติดตั้งสายไฟและระบบไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งเป็นแหล่งรวมพลังงานไฟฟ้ามหาศาลที่มีแรงดันไฟฟ้าสูงกว่า 1,000 โวลต์ ทำให้ส่งพลังงานได้ในระยะไกล โดยในปัจจุบันระบบไฟฟ้าแรงสูงที่แต่ละหน่วยงานให้บริการมีดังนี้

การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟผ. : 12 กิโลโวลต์, 24 กิโลโวลต์, 69 กิโลโวลต์, 115 กิโลโวลต์, 230 กิโลโวลต์

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. : 19 กิโลโวลต์, 22 กิโลโวลต์, 33 กิโลโวลต์, 69 กิโลโวลต์, 115 กิโลโวลต์, 230 กิโลโวลต์

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. : 69 กิโลโวลต์, 115 กิโลโวลต์, 230 กิโลโวลต์, 500 กิโลโวลต์

โดยทั่วไปแล้ว ระบบไฟฟ้าแรงสูงมักนำมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมที่ต้องผลิตพลังงานกระแสไฟฟ้าปริมาณมาก เช่น ด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ สำหรับการฉายเอกซเรย์ หรือการฉายรังสีด้วยลำอนุภาค ด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้า สำหรับการสร้างปรากฏการณ์อาร์คสำหรับการจุดประกายไฟฟ้า หรือการสร้างพลังงานในท่อสุญญากาศ และด้านอุตสาหกรรมทหาร เป็นต้น

เสาไฟฟ้าแรงสูงและเสาไฟฟ้าทั่วไปต่างกันอย่างไร?

เสาไฟฟ้าแรงสูงและเสาไฟฟ้าทั่วไปต่างกันอย่างไร?

ความแตกต่างระหว่างเสาไฟฟ้าแรงสูง และเสาไฟฟ้าทั่วไป สามารถสังเกตได้จากวัสดุที่ใช้ผลิตเสานั้น ๆ โดยเสาไฟฟ้าทั่วไปจะทำจากแท่งปูน ติดตั้งตามแนวบาทวิถี หรือริมถนน ในขณะที่เสาไฟฟ้าแรงสูงส่วนใหญ่จะทำจากเหล็ก มีขนาดใหญ่ มักติดตั้งบริเวณที่โล่งกว้าง/เว้นระยะห่างหลายเมตร และมีการยึดสายไฟฟ้าด้วยฉนวนไฟฟ้าหรือลูกถ้วย ซึ่งทำจากกระเบื้องเคลือบเป็นชั้น ๆ มีรูปร่างเหมือนชามคว่ำ รวมถึงสายไฟฟ้าแรงสูงจะอยู่สูงกว่าสายไฟฟ้าทั่วไป ซึ่งจะอยู่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ 9 เมตรขึ้นไป

เสาไฟฟ้าแรงสูงมีกี่ประเภท?

เสาไฟฟ้าแรงสูงมีกี่ประเภท

ในประเทศไทยมีการใช้งานเสาไฟฟ้าแรงสูงทั้งหมด 3 ประเภทตามโครงสร้างและวัสดุของเสา ได้แก่ เสาโครงเหล็ก (Steel Tower) เสาเหล็กชนิด 8 เหลี่ยม (Mono Pole) และเสาคอนเกรีต (Concrete Pole) โดยการใช้เสาแต่ละประเภทจะแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์การใช้งานและพื้นที่

  • เสาไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้านครหลวง

กฟน. ใช้เสาคอนกรีตเป็นหลักในการส่งระบบไฟฟ้าแรงสูงไปยังพื้นที่ต่าง ๆ แต่จะใช้เสาที่มีความสูงแตกต่างกันไปตามระดับของแรงดันไฟฟ้า โดยขนาดเสาที่ กฟน. ใช้มีดังนี้ 12 เมตร, 14 เมตร, 20 เมตร และ 22 เมตร นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาใช้เสาเหล็กชนิด 8 เหลี่ยมในบางพื้นที่ตามความเหมาะสม และใช้เสาโครงเหล็กในการส่งระบบไฟฟ้าแรงสูงจากสถานีไฟฟ้า

  • เสาไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟภ. จะใช้เสาคอนกรีต, เสาชนิด 8 เหลี่ยม และเสาโครงเหล็กในการกระจายไฟฟ้าในพื้นที่บริการเช่นเดียวกับ กฟน. แต่สำหรับเสาคอนกรีตที่นั้นจะมีขนาดแตกต่างออกไปเล็กน้อย ดังนี้ เสาขนาด12 เมตร, 12.2 เมตร, 14 เมตร, 14.3 เมตร, 16 เมตร และ 22 เมตร

  • เสาไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ

กฟผ. มีการนำเสาไฟฟ้าทั้ง 3 ประเภทมาใช้ในการส่งไฟฟ้าแรงสูง และโดยปกติเสาโครงเหล็กของ กฟผ. จะมี 4 ขา แต่ความสูงและรูปร่างแตกต่างกันออกไปตามระดับแรงดันและจำนวนวงจรย่อย

ทั้งนี้เสาไฟฟ้าแรงสูงแต่ละต้น จะมีฉนวนไฟฟ้าในการยึดสายไฟที่เรียกว่า ‘ลูกถ้วย’ ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันกระแสไฟฟ้าไหลไปยังตัวเสาที่ทำจากเหล็ก นอกจากนี้จำนวนชั้นของลูกถ้วยยังสามารถบ่งบอกถึงระดับแรงดันไฟฟ้าของเสาไฟฟ้าแรงสูงนั้น ๆ ได้อีกด้วย

เสาไฟฟ้าแรงสูงอันตรายจริงหรือ?

เสาไฟฟ้าแรงสูงอันตราย

หลายคนอาจมีความเชื่อว่าคลื่นไฟฟ้าจากเสาไฟฟ้าแรงสูงหรือเสาไฟฟ้าทั่วไปส่งผลต่อสมอง หรืออาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่นานว่าแท้จริงแล้วเสาไฟฟ้าแรงสูงมีอันตรายต่อสุขภาพจริงหรือไม่ เซฟไทยมีคำตอบมาบอกแล้ว

ถึงแม้ว่าจะยังไม่ปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรือวิจัยทางการแพทย์ที่ชี้ชัดว่าเสาไฟฟ้าแรงสูงสามารถกระตุ้นความเสี่ยงให้เกิดโรคร้ายแรง แต่อย่างไรก็ตามเสาไฟฟ้าแรงสูงก็ยังมีความเสี่ยงและอันตรายต่อชีวิตของผู้คนได้หากไม่เว้นระยะห่างที่ปลอดภัย

เนื่องจากเสาไฟฟ้าแรงสูงมีแรงดันสูงเกิน 12,000 โวลต์ขึ้นไป เมื่อเทียบกับเสาไฟฟ้าแรงต่ำที่ส่งไปตามบ้านเรือนซึ่งมีแรงดันเพียง 220 โวลต์เท่านั้น และสาไฟฟ้าแรงสูงยังสามารถส่งแรงดันไฟฟ้ากระโดดข้ามอากาศและฉนวนไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกายคนเราได้ ถึงแม้จะไม่ได้สัมผัสโดยตรง หรือพูดง่าย ๆ ก็คือการเข้าใกล้สายไฟฟ้า ไม่ได้กระตุ้นต่อโรคร้าย แต่เป็นอันตรายต่อชีวิต ด้วยเหตุนี้เองเป็นผลว่าทำไมเสาไฟฟ้าแรงสูงมักตั้งอยู่ในพื้นที่โล่งกว้างและห่างไกลจากชุมชน

ระยะห่างที่ปลอดภัยจากเสาไฟฟ้าแรงสูง

ระยะห่างที่ปลอดภัยจากเสาไฟฟ้าแรงสูง

เสาไฟฟ้าแรงสูง ทำหน้าที่รองรับการตั้งค้ำสายไฟที่ส่งกระแสไฟฟ้าแรงดันสูง ซึ่งส่วนใหญ่ที่ส่งกระแสไฟฟ้าไปตามถนนหรือทุ่งนาจะไม่มีฉนวนหุ้ม หรือมีเพียงฉนวนหุ้มบาง ๆ เท่านั้น จึงค่อนข้างเป็นอันตรายหากเผลอไปสัมผัสเข้า แต่การหุ้มฉนวนที่ปลอดภัยจะต้องหนา พันทับด้วยสายชีลด์ (Shield) และมีเปลือกนอกอีกชั้นหนึ่ง ทำให้สายไฟมีน้ำหนักมากจนไม่สามารถพาดบนเสาไฟฟ้าทั่วไปได้ ดังนั้นผู้ที่วางแผนก่อสร้างที่อยู่อาศัยใกล้กับเสาไฟฟ้าแรงสูงจึงควรคำนวณระยะห่างเพื่อความปลอดภัย และไม่ละเมิดกฎหมาย

ทั้งนี้ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้กำหนดมาตรฐานระยะห่างแนวนอนที่ปลอดภัยระหว่างอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือป้ายโฆษณากับสายไฟฟ้าแรงสูง และระยะห่างที่ปลอดภัยของการทำงานใกล้สายไฟฟ้าแรงสูงสำหรับบุคคลหรือผู้ปฏิบัติงานรวมถึงอุปกรณ์หรือเครื่องมือกลทุกชนิด เช่น ปั้นจั่นรถเครน หรือวัตถุที่ถืออยู่ในมือ ดังนี้

ขนาดแรงดันไฟฟ้า (โวลต์)

ระยะห่างที่ปลอดภัย (เมตร)

อาคาร/ระเบียง ป้ายโฆษณา ผู้ปฏิบัติงาน/เครื่องกล
12,000 – 24,000 1.80 1.50 3.05
69,000 2.13 1.80
115,000 2.30 2.30 3.20
230,000 3.90

ข้อต้องห้ามเมื่อต้องเข้าใกล้เสาไฟฟ้าแรงสูง

หากมีความจำเป็นต้องเข้าใกล้หรือทำกิจกรรมใกล้กับเสาไฟฟ้าแรงสูง ควรปฏิบัติตามแนวทาง ดังนี้

  • ห้ามทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดอันตราย หรือสร้างความเสียหายแก่ระบบไฟฟ้าใกล้สายไฟฟ้าแรงสูงในระยะ 4 เมตร
  • ห้ามทำนั่งร้านค้ำหรือคร่อมสายไฟฟ้าแรงสูงที่ไม่มีฉนวนปิดคลุม ขณะที่ก่อสร้าง หรือติดตั้งป้ายโฆษณา
  • ห้ามทำงานใกล้สายไฟ หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูงในขณะที่มีฝนตก ฟ้าคะนอง
  • ห้ามฉีด พ่น เท หรือราดน้ำใด ๆ ใกล้สายไฟฟ้าแรงสูง เช่น การรดน้ำต้นไม้ การฉีดน้ำด้วยสายยาง การต่อท่อน้ำทิ้งที่ทำให้น้ำเข้าใกล้หรือกระทบเสาไฟฟ้าแรงสูง
  • ห้ามสอยสิ่งใด ๆ ที่ติดอยู่ที่สายไฟฟ้าแรงสูง เช่น ว่าว สายป่าน ลูกโปร่งสวรรค์ เป็นต้น
  • ห้ามเผาซากต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความร้อน และควันไฟในแนวเดินสายไฟ เพราะจะทำให้ฉนวนไฟฟ้าเสื่อมสภาพ ซึ่งอาจทำให้มีไฟฟ้ารั่วและเกิดลัดวงจร
  • ห้ามจับ ดึง หรือแกว่งลวดสลิงเหล็กที่ใช้ยึดโยงเสาไฟฟ้าแรงสูง เพราะอาจกระทบสายไฟฟ้าแรงสูง และทำให้เกิดไฟรั่ว หรือสายไฟขาดได้
  • ห้ามปลูกสิ่งก่อสร้าง หรืออาคารในเขตเดินสายไฟฟ้า
  • ห้ามปลูกต้นไม้ ภายในแนวขาเสาไฟฟ้าแรงสูง 4 เมตร เพราะจะทำให้มีไฟรั่วมาตามกิ่งไม้ที่แตะสายไฟฟ้าแรงสูง ดังนั้นจึงควรตัดแต่งกิ่งไม้ไม่ให้เข้าใกล้สายไฟฟ้าเกินระยะที่กำหนด

ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีงานวิจัยรองรับว่าเสาไฟฟ้าแรงสูงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายอย่างที่หลายคนเชื่อกัน แต่เสาไฟฟ้าแรงสูงก็ยังคงเป็นอันตรายต่อผู้ที่เข้าใกล้ หรือทำกิจกรรมในบริเวณใกล้เคียง ดังนั้นหากจำเป็นต้องเข้าใกล้เสาไฟฟ้าแรงสูงควรปฏิบัติตามข้อห้ามตามที่เซฟไทยนำเสนอไปอย่างเคร่งครัด

ที่มา: mea

ddproperty

mahathon

egat

pws.npru.ac.th

pea