หน้าฝนแบบนี้ หลายพื้นที่เริ่มมีน้ำขังหรือน้ำท่วม หนึ่งในอันตรายที่หลายคนมองข้ามคือ ‘ไฟดูด’ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ง่าย หากใช้งานไฟฟ้าไม่ถูกต้อง เพราะน้ำกับไฟอยู่ด้วยกันไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังขณะใช้ไฟฟ้าเป็นพิเศษ เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน เชฟไทยขอชวนทุกคนมาดู 8 ข้อห้ามสำคัญที่ทุกควรรู้เมื่อจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ที่มีน้ำขังหรือเสี่ยงน้ำท่วม
1. ห้ามสัมผัสหรือใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าขณะตัวเปียกหรือมือเปียก
การสัมผัสหรือใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าขณะตัวเปียกหรือมือเปียกถือเป็นพฤติกรรมเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง เพราะน้ำและความชื้นเป็นตัวนำไฟฟ้า เมื่อร่างกายเปียกชื้นแล้วไปจับเครื่องใช้ไฟฟ้า เสียบปลั๊ก หรือเปิด-ปิดสวิตช์ อาจทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายจนเกิดไฟดูดหรือไฟช็อตถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ไฟฟ้าขณะตัวเปียกทุกกรณี และหากจำเป็นต้องใช้งาน ควรเช็ดตัวและมือให้แห้ง ยืนบนพื้นที่แห้งก่อนสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้ง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
2. ห้ามใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าในพื้นที่น้ำขัง
ห้ามใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าในพื้นที่น้ำขังโดยเด็ดขาด เพราะมีความเสี่ยงสูงที่กระแสไฟฟ้าจะรั่วและทำให้เกิดไฟดูดได้ง่าย หากเป็นบ้านชั้นเดียวที่น้ำท่วมถึง ต้องงดใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด รวมถึงห้ามเปิด-ปิดสวิตช์ไฟทั้งภายในและภายนอกอาคาร แม้อุปกรณ์จะอยู่เหนือระดับน้ำก็ตาม เนื่องจากอาจเกิดไฟดูดโดยไม่รู้ตัว ส่วนบ้านสองชั้นที่มีสวิตช์แยก ควรตัดกระแสไฟฟ้าชั้นล่างทันทีเมื่อเริ่มมีน้ำท่วม และให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าหรือช่างไฟผู้เชี่ยวชาญเข้าดำเนินการปลดสวิตช์เพื่อความปลอดภัย หากจำเป็นต้องอาศัยในบ้านที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ควรใช้ไฟฟ้าเฉพาะชั้นบนที่ปลอดภัยและมีระบบไฟฟ้าแยกชัดเจน พร้อมทั้งขนย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดขึ้นที่สูงก่อนน้ำท่วมถึง เพื่อลดความเสี่ยงไฟดูดที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
3. ห้ามเข้าใกล้หรือสัมผัสปลั๊กไฟ สายไฟ หรือเสาไฟฟ้าในพื้นที่น้ำขัง
ห้ามเข้าใกล้หรือสัมผัสปลั๊กไฟ สายไฟ หรือเสาไฟฟ้าในพื้นที่น้ำขัง เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟดูดหรือไฟช็อต ควรอยู่ห่างจากเสาไฟหรือระบบจำหน่ายไฟฟ้าอย่างน้อย 2-3 เมตร และหากพบเห็นสายไฟขาด เสาไฟฟ้าล้ม หรือสายไฟจมน้ำ ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือสายด่วน PEA โทร.1129 เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบและแก้ไข นอกจากนี้ ควรระวังต้นไม้หรือกิ่งไม้ที่อยู่ใกล้สายไฟ เพราะในช่วงที่มีลมแรงหรือฝนตกหนัก อาจทำให้ต้นไม้หักโค่นหรือเกี่ยวสายไฟจนเกิดอันตราย จึงควรหมั่นตัดแต่งกิ่งไม้ให้เป็นระเบียบ เพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่อาจตามมา
4. ห้ามใช้มือเปล่าช่วยเหลือคนถูกไฟดูด
เมื่อพบเห็นคนถูกไฟดูด ห้ามรีบเข้าไปสัมผัสตัวด้วยมือเปล่า เพราะอาจทำให้ตัวผู้ช่วยเองถูกไฟดูดตามไปด้วย วิธีที่ถูกต้องคือ ตัดกระแสไฟให้เร็วที่สุดด้วยการปิดสวิตช์หลักหรือตัดคัตเอาต์ หากไม่สามารถตัดไฟได้ ให้หาสิ่งของที่ไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เช่น ไม้แห้งหรือผ้าแห้ง มาช่วยแยกคนที่ถูกไฟดูดจากจุดที่มีกระแสไฟ โดยระหว่างช่วยเหลือควรยืนบนพื้นแห้งและร่างกายต้องไม่เปียก หลังจากนั้นให้ตรวจสอบอาการผู้ประสบภัย หากชีพจรหยุดเต้นควรทำ CPR พร้อมแจ้งกู้ภัยทันที
5. ห้ามติดตั้งหรือใช้สวิตช์ไฟฟ้าในที่เปียกชื้น
การติดตั้งหรือใช้งานสวิตช์ไฟในบริเวณที่มีความชื้นสูงหรือเสี่ยงต่อน้ำสาด เช่น พื้นที่นอกบ้าน ระเบียงหรือบริเวณใกล้แหล่งน้ำควรเลือกใช้อุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติป้องกันน้ำตามมาตรฐาน เช่น สวิตช์ไฟฟ้าแบบ IPX4 ซึ่งป้องกันน้ำสาด หรือ IPX5 ที่ป้องกันน้ำฉีด และควรติดตั้งให้สูงจากพื้นไม่น้อยกว่าระดับน้ำท่วมถึง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงไฟดูดในช่วงฤดูฝนหรือในพื้นที่ที่อาจมีน้ำขังได้ทุกเวลา
6. ห้ามวางเครื่องใช้ไฟฟ้าบนพื้นหรือใกล้แหล่งน้ำ
ควรหลีกเลี่ยงการวางเครื่องใช้ไฟฟ้าไว้บนพื้นหรือใกล้บริเวณที่มีโอกาสน้ำท่วมถึง เพราะหากฝนตกหนัก น้ำรั่วซึม หรือน้ำท่วมเฉียบพลัน อาจทำให้น้ำไหลเข้าถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า ไฟดูด หรือไฟช็อตจนเป็นอันตรายต่อชีวิต เพื่อความปลอดภัย ควรยกเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดขึ้นวางบนที่สูง เช่น ชั้นวางของ หรือตู้เก็บของ เพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในช่วงหน้าฝน
7. ห้ามเสียบหรือถอดปลั๊กไฟขณะยืนแช่น้ำ
ห้ามเสียบหรือถอดปลั๊กไฟขณะยืนแช่น้ำหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำขัง เพราะแม้อุปกรณ์ไฟฟ้าจะอยู่เหนือระดับน้ำ แต่กระแสไฟฟ้าสามารถไหลผ่านน้ำและเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อร่างกายเปียกชื้น ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อไฟดูดหรือไฟช็อต ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการเปิด-ปิดสวิตช์หรือเสียบ-ถอดปลั๊กไฟในพื้นที่เสี่ยงเหล่านี้ และหากพบว่าปลั๊กไฟถูกน้ำท่วม ห้ามใช้งานอย่างเด็ดขาดเพื่อความปลอดภัยสูงสุด
8. ห้ามใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่มีสายดิน
สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเมื่อต้องใช้ไฟฟ้าในพื้นที่น้ำขัง คือ ต้องเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานและมีระบบสายดินที่ปลอดภัย เพราะหากใช้อุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่มีสายดิน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อไฟรั่ว ไฟดูด หรือไฟช็อต โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนที่มีน้ำขังหรือความชื้นสูง นอกจากนี้ การติดตั้งสายดินอย่างถูกต้องจะช่วยให้กระแสไฟฟ้าที่รั่วไหลสามารถถ่ายลงดินได้ ป้องกันไม่ให้ผู้ใช้งานได้รับอันตราย ดังนั้น ควรเลือกใช้ปลั๊กไฟ เต้าเสียบ และปลั๊กพ่วงที่มีมาตรฐาน มอก. พร้อมระบบตัดไฟ และหมั่นตรวจสอบความเรียบร้อยของระบบสายดินอยู่เสมอ เพื่อความปลอดภัยของทุกคนในบ้าน
ในช่วงหน้าฝน การใช้ไฟฟ้าต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะหากพลาดเพียงนิดเดียวอาจหมายถึงชีวิต แล้วอย่าลืมปฏิบัติตาม 8 ข้อห้ามที่เซฟไทยได้แนะนำไป และหากพบความผิดปกติควรติดต่อช่างผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัยของทุกชีวิต
ที่มา:
https://chuphotic.com/knowledge/how-to-use-electricity-safely/
https://www.peachannel.com/newsletter/news/650234/
https://empowerliving.doctor.or.th/case/758
https://www.ohswa.or.th/17844373/ซีรีส์พื้นฐานความปลอดภัยด้านไฟฟ้าที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยต้องรู้-ep4