• 13 Views
  • Apr 29, 2025
  • 13 mins read

ลวดสลิงยึดโยงเสาไฟฟ้า เบื้องหลังความมั่นคงโครงสร้างไฟฟ้า

ลวดสลิงยึดโยงเสาไฟฟ้าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยเพิ่มความมั่นคงให้กับระบบโครงสร้างไฟฟ้า ลดความเสี่ยงที่เสาไฟฟ้าจะเอียงหรือล้มเมื่อเผชิญกับแรงลม แรงกระแทก หรือปัจจัยสภาพแวดล้อมอื่น ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศแปรปรวน เสาไฟฟ้ามีหน้าที่รองรับสายไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบจำหน่ายไฟฟ้า ที่ช่วยส่งกระแสไฟฟ้าไปยังบ้านเรือนและอาคารต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของลวดสลิง ประโยชน์ อุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน และวิธีการติดตั้งที่ถูกต้อง จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าและประชาชนในพื้นที่

ลวดสลิงยึดโยงเสาไฟฟ้า

ทำความรู้จักลวดสลิงยึดโยงเสาไฟฟ้า

ลวดสลิงยึดโยงเสาไฟฟ้า (Guy Wire) หรือที่เรียกกันในชื่ออื่น ๆ เช่น Guy Strand, Guy Line, Stay Wire หรือ Guy Cable เป็นลวดสลิงที่ใช้สำหรับเสริมความมั่นคงให้กับโครงสร้างที่ตั้งอิสระ เช่น เสาไฟฟ้า เสาวิทยุ กังหันลม และเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคม ด้วยการดึงค้ำยันให้โครงสร้างยังคงอยู่ในตำแหน่งที่มั่นคง
ลวดสลิงยึดโยงเสาไฟฟ้าทำจากเหล็กกล้าคุณภาพสูงและชุบสังกะสีเพื่อป้องกันการกัดกร่อนจากสภาพอากาศ ทำให้มีน้ำหนักเบาแต่มีความแข็งแรงสูง โดยมีการถักเป็นเกลียวเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ลวดสลิงประเภทนี้สามารถแบ่งออกหลัก ๆ ได้เป็น 2 ประเภทตามจำนวนเส้นลวดที่พันกัน ได้แก่ แบบ 1×7 ที่มีเส้นลวด 7 เส้น ซึ่งให้ความยืดหยุ่นสูง เหมาะกับงานที่ต้องการยืดหยุ่น และแบบ 1×19 ที่มีเส้นลวด 19 เส้น ซึ่งมีความแข็งแรงสูงและทนทานต่อแรงตึงได้ดีกว่า

ประโยชน์ของลวดสลิงยึดโยงเสาไฟฟ้า

ประโยชน์ ลวดสลิงยึดโยงเสาไฟฟ้า

1. เพิ่มความมั่นคงให้โครงสร้างระบบไฟฟ้า

ลวดสลิงช่วยยึดเสาไฟฟ้าให้กับพื้นดิน ลดความเสี่ยงในการล้มของเสาที่อาจเกิดจากแรงลมหรือปัจจัยภายนอกอื่น ๆ

2. รองรับน้ำหนักเสา

ลวดสลิงยึดโยงเสาไฟฟ้าช่วยรองรับน้ำหนักของเสาและสายไฟที่อยู่บนเสา เพื่อป้องกันไม่ให้เสาเอียงหรือล้มได้ เนื่องจากลวดสลิงมีความแข็งแรงสูง

3. ป้องกันความเสี่ยงจากแรงลม

ลวดสลิงช่วยให้เสาไม่ล้มจากแรงลมหรือความเคลื่อนไหวที่เกิดจากสภาพอากาศที่รุนแรง

4. เพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน

ลวดสลิงช่วยให้เสาไฟฟ้าที่มีความสูงมากกว่า 10 ฟุต ปลอดภัยจากการล้ม ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้

อุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกับลวดสลิงยึดโยงเสาไฟฟ้า

อุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกับลวดสลิงยึดโยงเสาไฟฟ้า

การติดตั้งลวดสลิงยึดโยงเสาไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เสริมร่วมด้วย เช่น

1. มือจับลวดทางตัน

มือจับลวดทางตัน (Big Grip Dead Ends) เป็นอุปกรณ์ใช้สำหรับงานที่ต้องการความตึงสูงเป็นพิเศษ ทำหน้าที่ช่วยยึดปลายลวดสลิงให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมและรับแรงดึงจากลวดสลิงได้อย่างมั่นคง

2. สลิปย้ำปลายสายหุ้ม

สลิปย้ำปลายสายหุ้ม (End Sleeves) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกับมือจับลวดทางตัน เพื่อป้องกันการคลายตัวของเกลียวลวดสลิง ช่วยเสริมความแข็งแรงให้จุดยึดปลายสายและยืดอายุการใช้งานของจุดเชื่อมต่อ

3. คลิปหนีบลวดสลิง

คลิปหนีบลวดสลิง (Drop Forged Wire Clips) มีหน้าที่ช่วยจับยึดปลายลวดสลิงหลังจากทำเป็นห่วงตาไก่ (Eye Loop) เพื่อให้ปลายลวดสลิงไม่หลุดออกจากกัน

4. สะเก็น

สะเก็น (Shackle) เป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อที่ช่วยให้สามารถติดตั้งลวดสลิงกับโครงสร้างต่าง ๆ ได้อย่างมั่นคง สำหรับงานยึดโยงเสาไฟฟ้า นิยมใช้แบบ Bolt-Type Shackles เนื่องจากมีความแข็งแรงสูงและลดความเสี่ยงที่ชิ้นส่วนจะคลายตัวได้

5. ห่วงหัวใจ

ห่วงหัวใจ (Thimble) ทำหน้าที่ป้องกันการเสียดสีและการบีบอัดของลวดสลิงบริเวณห่วงตาไก่ ช่วยเพิ่มอายุการใช้งานของลวดสลิงและลดโอกาสเกิดความเสียหายจากแรงตึง

6. เกลียวเร่ง

เกลียวเร่ง (Turnbuckle) คืออุปกรณ์ปรับความตึงของลวดสลิง สามารถใช้ดึงหรือคลายลวดสลิงเพื่อให้ได้แรงตึงที่เหมาะสมในการยึดโยงเสาไฟฟ้า

วิธีการติดตั้งลวดสลิงยึดโยงเสาไฟฟ้า

วิธีการติดตั้งลวดสลิงยึดโยงเสาไฟฟ้า

1. เริ่มติดตั้งจากด้านบนลงล่าง

เริ่มต้นจากด้านบนของเสาไฟฟ้าลงมาด้านล่าง โดยติดตั้งแหวนยึดลวดสลิงและแคลมป์ที่ส่วนบนของเสา พันลวดสลิงรอบจุดยึดประมาณ 6-8 รอบเพื่อป้องกันการคลายตัว

2. กำหนดมุมยึดลวดสลิง

ควรยึดลวดสลิงในมุมประมาณ 45 องศาจากตัวเสา และจัดตำแหน่งจุดยึดพื้นดินให้ห่างจากเสาประมาณ 5 ฟุต เพื่อให้โครงสร้างมีความมั่นคงเพียงพอ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าตะขอสกรู (Screw Eyes) ยึดติดแน่น จากนั้นใช้สารเคลือบกันสนิม เช่น น้ำมันดิน (Roofing Tar) ทาบริเวณจุดยึดเพื่อป้องกันการกัดกร่อน

3. ติดตั้งตัวเกลียวเร่ง

เชื่อมต่อลวดสลิงกับเกลียวเร่ง ซึ่งควรขยายออกจนสุดและเว้นระยะห่างจากจุดยึดประมาณ 1 ฟุต จากนั้นดึงปลายลวดสลิงให้แน่นก่อนพันรอบจุดยึด 6-8 รอบเพื่อให้แน่ใจว่าลวดสลิงจะไม่หลุดหรือหย่อนเกินไป แต่ไม่ควรดึงแน่นเกินไปเพื่อให้มีความยืดหยุ่นเมื่อลมพัดแรง

4. ปรับระดับความตึงของลวดสลิง

ใช้ไขควงหมุนปรับความตึงเพื่อล็อกลวดสลิงให้มั่นคง หากต้องติดตั้งลวดสลิงมากกว่าหนึ่งชุด ควรใช้จุดยึดที่แตกต่างกันเพื่อกระจายน้ำหนักและแรงดึงอย่างเหมาะสม เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย เสาไฟฟ้าจะมีความมั่นคงมากขึ้น ลดโอกาสการโค่นล้มจากแรงลมหรือกระแทก

 

ลวดสลิงยึดโยงเสาไฟฟ้าอาจเป็นองค์ประกอบที่หลายคนมองข้าม แต่ในความเป็นจริงลวดสลิงเส้นเล็ก ๆ นี้คือเบื้องหลังของความมั่นคงของระบบไฟฟ้าที่ช่วยให้เสาไฟฟ้าสามารถทนทานต่อแรงลม แรงกระแทก และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมและการติดตั้งอย่างถูกต้องก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้โครงสร้างไฟฟ้าทำงานได้อย่างปลอดภัยไร้กังวล

 

ที่มา:
https://www.powertelcom.com/guy-wire-function/
https://apacinfrastructure.com.au/technical-resources/components/guy-wire-explained
https://www.elitesalesinc.com/what-is-a-guy-wire-and-why-is-it-called-by-that-name/