ค่าไฟแพงขึ้นเป็นปัญหาที่หลายบ้านเจอเป็นประจำ โดยบางครั้งสาเหตุอาจมาจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่เผลอมองข้าม ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าไฟแบบไม่รู้ตัว และหากยังไม่ระวังก็จะทำให้ค่าไฟพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ เซฟไทยชวนทุกคนมาเช็ก 6 พฤติกรรมที่ทำให้ค่าไฟแพง และควรหยุดก่อนจะบานปลายมากไปกว่านี้
1. การเปิดแอร์เย็นจัด
การเปิดแอร์เย็นจัดไม่เพียงแต่ทำให้รู้สึกไม่สบายร่างกาย แต่ยังทำให้ค่าไฟแพงขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย เพราะยิ่งปรับอุณหภูมิแอร์ให้เย็นมากเท่าไหร่ แอร์ก็ยิ่งต้องทำงานหนักและใช้พลังงานมากขึ้น โดยอุณหภูมิที่แนะนำคือ 26°C ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิในห้องเย็นพอดี นอกจากนี้ ทุกการเพิ่มอุณหภูมิ 1°C จาก 25°C จะช่วยประหยัดไฟ 10% แต่ไม่ควรเกิน 28°C ทั้งนี้ หากปรับอุณหภูมิแอร์ให้สูงขึ้นที่ 27-28°C และเปิดพัดลมควบคู่ไปด้วย จะช่วยลดค่าไฟลงได้ถึง 30%
2. การเปิดประตูตู้เย็นบ่อย
การเปิดประตูตู้เย็นบ่อย ๆ เป็นหนึ่งพฤติกรรมที่ทำให้ค่าไฟแพงขึ้นโดยไม่จำเป็น เนื่องจากทุกครั้งที่เปิดประตูจะทำให้ความเย็นลดลง และตู้เย็นต้องทำงานหนักขึ้นด้วย ซึ่งยิ่งเปิดประตูบ่อยเท่าไหร่ ค่าไฟก็ยิ่งสูงขึ้น โดยจากการสำรวจพบว่า ในแต่ละวันคนเรายังเปิดตู้เย็นเฉลี่ย 22 ครั้ง และในหนึ่งปีจะเปิดถึง 8,000 ครั้ง นอกจากนี้ ผลการศึกษายังเผยว่าการเปิดประตูตู้เย็นจะทำให้กินไฟมากขึ้นถึง 40% เมื่อเปรียบเทียบกับการที่ประตูปิดสนิท หากผู้ใช้สามารถหลีกเลี่ยงการเปิดประตูบ่อย ๆ และตั้งตู้เย็นให้ห่างจากผนังด้านหลังและด้านข้างอย่างน้อย 15 ซม. จะช่วยลดการใช้พลังงานและประหยัดค่าไฟได้ประมาณ 600 บาทต่อปี
3. การเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทิ้งไว้
หลายคนอาจมีนิสัยชอบเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทิ้งไว้แม้ไม่ได้ใช้งาน แต่รู้ไม่ว่านั่นอาจทำให้ค่าไฟแพงโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากอุปกรณ์หลายชนิดที่เสียบปลั๊กค้างไว้อยู่ยังคงใช้พลังงานในโหมดสแตนด์บาย เช่น ทีวีที่ปิดด้วยรีโมตยังคงใช้ไฟประมาณ 2 วัตต์ต่อชั่วโมง หากเสียบทิ้งไว้ทั้งวันอาจกินไฟสูงถึง 40 วัตต์ นอกจากนี้ การเสียบปลั๊กหม้อหุงข้าวทิ้งไว้ก็กินไฟอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพราะระบบอุ่นอัตโนมัติจะทำงานตลอดเวลา ส่งผลให้เปลืองพลังงานโดยไม่จำเป็น ดังนั้น จึงควรถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งหลังใช้งานเสร็จ
4. การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าพร้อมกันหลาย ๆ เครื่อง
การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าพร้อมกันหลาย ๆ เครื่อง โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานสูง เช่น เตารีด พัดลม หรือเครื่องทำน้ำอุ่น จะทำให้การใช้พลังงานสะสมมากขึ้นจนค่าไฟแพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงประเทศไทยยังใช้รูปแบบการคำนวณค่าไฟฟ้าแบบขั้นบันได หมายความว่า ยิ่งใช้ไฟมาก ค่าไฟก็จะยิ่งแพงขึ้นตามลำดับ ซึ่งเมื่อใช้ไฟฟ้าเกินขอบเขตที่กำหนดไว้ในแต่ละขั้น จะถูกคิดค่าไฟในอัตราที่แพงขึ้น ดังนั้นการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายเครื่องพร้อมกันจึงส่งผลให้ค่าไฟแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว และกระทบต่อการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอายุการใช้งานอีกด้วย
5. การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีฉลากประหยัดไฟ เบอร์ 5
การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีฉลากประหยัดไฟ เบอร์ 5 จะทำให้ค่าไฟแพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีฉลากนี้มักจะใช้พลังงานมากกว่า การเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เช่น หลอดไฟ LED หรืออุปกรณ์ที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าและประหยัดค่าไฟได้สูงสุดถึง 30% ขึ้นอยู่กับจำนวนดาวที่ได้รับ
6. การใช้น้ำเกินความจำเป็น
การใช้น้ำมากเกินความจำเป็นอาจทำให้ค่าไฟแพงขึ้นโดยไม่รู้ตัว การใช้ปั๊มน้ำอัตโนมัติขนาด 150 วัตต์ เพื่อส่งน้ำไปยังจุดต่าง ๆ ในบ้าน กินไฟประมาณ 0.6 บาท/ชั่วโมง หากใช้น้ำมากเกินไปก็จะส่งผลให้ปั๊มน้ำทำงานหนักขึ้นและใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้ต้องเสียค่าไฟเกินความจำเป็น
พฤติกรรมที่กล่าวมาทั้งหมด ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟแพงขึ้น หากสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ได้ ก็จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าและประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รับรองว่าเห็นการเปลี่ยนแปลงในค่าไฟแต่ละเดือนอย่างแน่นอน