• 309 Views
  • October 20, 2022
  • 7 mins read

วิธีเลือกหลอดประหยัดไฟให้ตอบโจทย์การใช้งานกับทุกห้องในบ้าน

‘แสงสว่าง’ เป็นปัจจัยสำคัญในการอยู่อาศัยในทุกสถานที่ ซึ่งปัจจุบันผู้คนก็ให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อหลอดประหยัดไฟ เพื่อให้ได้ทั้งแสงสว่าง เหมาะสมกับแต่ละห้องและไม่เปลืองไฟ วันนี้ทางเซฟไทยจะมาแนะนำวิธีการเลือกซื้อหลอดประหยัดไฟให้เหมาะสมกับห้องต่าง ๆ ในบ้าน ตอบโจทย์การใช้งานมากที่สุด

ก่อนที่เราจะรู้ถึงวิธีการเลือกซื้อหลอดประหยัดไฟนั้น จำเป็นจะต้องศึกษาถึงประเภทของหลอดไฟว่ามีแบบไหนบ้าง แล้วแต่ละแบบเหมาะแก่การใช้งานอย่างไร เพื่อที่เราจะได้เลือกมาใช้งานได้อย่างเหมาะสม

ประเภทของหลอดไฟ แบบไหนประหยัดไฟมากที่สุด

ประเภทหลอดประหยัดไฟ

 

  1. หลอดอินแคนเดสเซนต์ (Incandescent) หรือที่เรียกกันว่า ‘หลอดไส้’ หลอดไฟประเภทนี้ใช้กันมาอย่างยาวนานแล้ว มีไส้หลอดเป็นทังสเตน สามารถให้ความสว่างได้ด้วยการปล่อยกระแสไฟผ่านไส้หลอดที่เป็นลวดโลหะร้อน แต่ปัจจุบันความนิยมในการเลือกใช้ลดลง เพราะอายุการใช้งานสั้น ค่อนข้างกินไฟ รวมถึงมีตัวเลือกอื่นที่ตอบโจทย์มากกว่า
  2. หลอดฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent) หรือที่เรียกกันว่า ‘หลอดตะเกียบ’ ให้ความสว่างจากการอาศัยพลังงานของแสงอัลตราไวโอเลตซึ่งเกิดขึ้นจากไอปรอทที่บรรจุไว้ในก๊าซเฉื่อยภายในหลอด ซึ่งแสงที่เราเห็นนั้นจะผ่านการกระทบกับผิวในหลอดที่เคลือบสารฟลูออเรสเซนต์ เนื่องจากแสงอัลตราไวโอเลต ตาของมนุษย์ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ ซึ่งหลอดไฟชนิดนี้มีหลายรูปแบบทั้งหลอดทรงยาวและดัดแปลงขดเป็นเกลียวเพื่อใช้แทนหลอดไส้แบบขั้วเกลียว E14 E27 ที่เรียกว่าหลอด Compact Fluorescent (CFL) หรือในชื่อหลอดตะเกียบนั่นเองหลอดไฟชนิดนี้มีประสิทธิภาพให้แสงสว่างสูง มีหลากหลายสีให้เลือกใช้ แต่อายุการใช้งานสั้น ยิ่งถ้าเปิดทั้งวัน อายุการใช้งานก็จะลดหลั่นลงไปอีก และมักให้อุณหภูมิความร้อนสูง ส่งผลให้ค่อนข้างกินไฟอีกด้วย
  1. หลอดไดโอดเปล่งแสง (Light Emitting Diode) หรือที่เรียกกันว่า ‘หลอด LED’ มีประสิทธิภาพสูง นิยมใช้งานกันแพร่หลาย ให้ความสว่างโดยการปล่อยกระแสไฟฟ้าไหลผ่านสารกึ่งตัวนำจนเกิดแสง หลอดประเภทนี้เกิดความร้อนน้อยมาก ทำให้ประหยัดพลังงาน อายุการใช้งานนาน

เพราะแบบนี้เอง…หลอดประหยัดไฟ LED จึงเป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน มีข้อดีหลากหลายไม่ว่าจะเป็นอายุการใช้งานที่นานกว่าประมาณ 15,000 – 50,000 ชั่วโมง ให้สีและความสว่างคงที่ ประหยัดไฟกว่าหลอดประเภทอื่น แม้ราคาจะสูงกว่าหลอดทั่วไป แต่ถ้าเทียบกับระยะเวลาการใช้งาน ก็นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เอาล่ะถึงเวลาที่เราจะไปดูวิธีเลือกซื้อหลอดประหยัดไฟกันแล้ว

วิธีเลือกซื้อหลอดประหยัดไฟให้เหมาะกับแต่ละห้อง

วิธีเลือกหลอดประหยัดไฟ

  1. เลือกหลอดประหยัดไฟที่มีสีของแสงให้เหมาะกับห้อง

หากสังเกตดี ๆ สีของแสงในแต่ละหลอดประหยัดไฟมีความแตกต่างกันให้ความรู้สึกและสร้างบรรยากาศให้ห้อง ๆ นั้นตามความต้องการของเรา อีกทั้งยังส่งผลต่อประสิทธิภาพในการมองเห็นอีกด้วย เช่น ห้องนอนอาจไม่เหมาะกับไฟสว่างจ้า ควรเป็นหลอดไฟในแสงโทนส้มที่ช่วยให้ผ่อนคลายมากกว่า ซึ่งหลอดประหยัดไฟมีโทนสีให้เลือก ดังนี้

  • หลอดไฟสี Warm White – มอบแสงในโทนส้ม อบอุ่น ค่าอุณหภูมิสีอยู่ที่ประมาณ 2,500 – 3,300 เคลวิน เหมาะสำหรับห้องนอน ห้องน้ำ ห้องรับแขก ควรหลีกเลี่ยงใช้ในพื้นที่ห้องแต่งตัว เพราะแสงนี้จะทำให้สิ่งที่เราเห็นมีสีผิดเพี้ยนไป เช่น เสื้อขาวเป็นสีออกเหลืองนวล
  • หลอดไฟสี Cool White – เป็นแสงโทนสีขาวสว่าง โทนสีเย็น ค่าอุณหภูมิสีอยู่ที่ประมาณ 4,000 เคลวิน มองแล้วให้ความสบายดวงตา เหมาะกับห้องที่ต้องการความมีสีสันชัด เช่น บริเวณโต๊ะกินข้าว ช่วยให้อาหารน่าทาน
  • หลอดไฟสี Day Light – โทนสีมาตรฐานที่มักนิยมเลือกใช้กันทั่วไป เป็นโทนสีที่ใกล้เคียงแสงธรรมชาติ ค่าอุณหภูมิสีอยู่ที่ประมาณ 4,500-6,500 เคลวิน มองเห็นชัด สีไม่เพี้ยน เหมาะกับหลายห้องในบ้านเลย เช่น ห้องทำงาน โต๊ะเครื่องแป้ง หรือแม้แต่ห้องน้ำก็สามารถใช้หลอดสีนี้ได้เช่นกัน
  1. เลือกขั้วหลอดไฟให้ถูกต้อง

ก่อนจะเลือกซื้อหลอดประหยัดไฟมาเปลี่ยน ควรดูขั้วหลอดไฟให้ดีก่อนว่าใช้แบบไหน เข้ากันได้หรือเปล่า ส่วนใหญ่แล้วจะมีขั้วแบบเกลียวกับแบบเขี้ยว

  1. เลือกหลอดประหยัดไฟที่มีวัตต์เหมาะสม

จำนวนวัตต์แสดงถึงความสว่างมากหรือน้อยของหลอดไฟ ยิ่งมีจำนวนวัตต์สูงก็ยิ่งสว่างและกินไฟตามไปด้วย ซึ่งแต่ละจุดของบ้านก็ต้องการความสว่างแตกต่างกัน เช่น ห้องทำงาน ต้องการความสว่างประมาณ 4-5 วัตต์ ขึ้นอยู่กับความกว้างและความสูงของห้องด้วย

  1. เลือกหลอดประหยัดไฟที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย

หลอดไฟ LED ก็ถือเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นควรเลือกหลอดที่ได้มาตรฐาน มีเครื่องหมาย มอก. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) และฉลากเบอร์ 5 เพื่อความปลอดภัยและประหยัดพลังงาน

เห็นไหมว่าการเลือกหลอดประหยัดไฟนั้นไม่ยากอย่างที่คิด หากใครที่ต้องเปลี่ยนหลอดไฟเองอยู่บ่อย ๆ ล่ะก็…หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะ

ที่มา:

rawee-lighting

scimath

homeguru

nirvanadaii

electric