หลายคนอาจคิดว่าเตาไมโครเวฟสามารถเอาอะไรเข้าไปก็อุ่นได้ แต่ความจริงแล้ววิธีใช้ไมโครเวฟยังมีข้อควรรู้ในการใช้งานอยู่ เพราะถ้าหากนำบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสมเข้าไปในไมโครเวฟอาจเสี่ยงอันตรายได้ วันนี้ทางเซฟไทยจึงจะพาไปดูกันว่าควรใช้อย่างไรให้ทั้งสะดวกและปลอดภัยมากที่สุด
ข้อควรรู้สำหรับวิธีใช้ไมโครเวฟ ฉบับเบื้องต้น
-
ทำความเข้าใจ ศึกษาวิธีใช้ไมโครเวฟ
ก่อนเริ่มใช้งานควรอ่านคู่มือวิธีใช้ไมโครเวฟ โดยการทำงานของแต่ละเครื่อง แต่ละรุ่นนั้นแตกต่างกัน โดยภายในคู่มือการใช้งานจะมีการอธิบายฟังก์ชันต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติตามเอาไว้แล้ว
ฟังก์ชันทั่วไปสำหรับใช้งานไมโครเวฟ
- ละลายน้ำแข็ง เหมาะสำหรับวัตถุดิบแช่แข็ง ที่ต้องละลายก่อนนำไปปรุงอาหาร
- อุ่นอาหาร เหมาะสำหรับใช้อุ่นอาหารที่ปรุงสุกมาแล้วแช่เย็นไว้ให้ร้อน
- ย่างอาหาร เป็นฟังก์ชันสำหรับประกอบอาหารให้สุกกรอบ
-
ศึกษาวิธีใช้ไมโครเวฟ ควรตรวจสอบภาชนะที่นำเข้าเครื่อง
หนึ่งในวิธีใช้ไมโครเวฟที่สำคัญและควรระมัดระวังมากที่สุดคือ ‘ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์’ ที่นำเข้าไปในไมโครเวฟ เนื่องจากไมโครเวฟมีข้อจำกัดเรื่องวัสดุที่สามารถนำเข้าได้มีเพียงบางประเภทเท่านั้น หากนำวัสดุที่ไม่เหมาะสมเข้าไปอาจส่งผลให้อาหารเกิดการปนเปื้อนของสารเคมี ไปจนถึงเกิดประกายไฟ ต้นเหตุของเพลิงไหม้ได้
ภาชนะหรือวัสดุที่สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้
- แก้ว – ทนความร้อนสูง เข้าไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัย
- เซรามิก – นำเข้าไมโครเวฟได้เช่นกัน แต่ควรตรวจสอบไม่ให้มีขอบทองหรือขอบเงินที่ภาชนะ เพราะสามารถทำให้เกิดประกายไฟได้
- พลาสติก – นำเข้าไมโครเวฟได้เฉพาะที่ภาชนะมีสัญลักษณ์ Microwave Safe หรือ Microwavable หากพบว่าที่ภาชนะพลาสติกไม่มีสัญลักษณ์ดังกล่าว ไม่แนะนำให้นำเข้าไมโครเวฟ
ภาชนะหรือวัสดุที่ไม่สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้
- ฟอยล์ห่ออาหาร เมื่อเจอกับความร้อนของไมโครเวฟจะทำให้เกิดประกายไฟและลุกไหม้ได้
- บรรจุภัณฑ์กระดาษ ภาชนะกระดาษ ทำให้เกิดไฟลุกไหม้ได้
- ชามโลหะ รวมถึงภาชนะอื่น ๆ ที่มีส่วนประกอบของโลหะ เพราะพื้นผิวของโลหะจะสะท้อนคลื่นความร้อน มีโอกาสเกิดประกายไฟ และยังส่งผลให้ไมโครเวฟเสื่อมสภาพง่ายกว่าเดิม
- จานหรือชามเมลามีน แม้พลาสติกเมลามีนจะทนความร้อนกว่าชนิดอื่น แต่ไม่อาจทนความร้อนของไมโครเวฟได้ นอกจากนี้ยังมีสารฟอร์มัลดีไฮด์ที่เป็นสารก่อมะเร็ง ที่อาจละลายมาปนเปื้อนกับอาหารอีกด้วย
- กล่องโฟม เมื่อโฟมเจอความร้อนจะละลายได้ง่าย ยิ่งเป็นความร้อนจากไมโครเวฟ กล่องโฟมจะละลายไปจนถึงไฟลุกไหม้ได้ด้วย
ข้อควรระวังในการใช้ไมโครเวฟ
- ไม่ควรทิ้งอาหารที่อุ่นเสร็จแล้วไว้นาน ๆ ควรนำอาหารออกมาทันทีที่อุ่นเสร็จ หรือเมื่อไมโครเวฟแสดงสัญญาณเตือน เพราะภายในเครื่องจะยังคงความร้อนอยู่ สามารถทำให้อาหารไหม้และภาชนะที่ใช้ใส่เข้าไปอาจเกิดการละลายจนปนเปื้อนกับอาหารได้
- ไม่ควรอุ่นอาหารเหลวในไมโครเวฟจนเดือด เพราะเมื่อของเหลวเจอกับความร้อนที่มากเกิน 100 องศาเซลเซียสเป็นต้นไป จะทำให้เกิดการปะทุที่เป็นอันตรายได้ ดังนั้นจึงควรเลือกเวลาและอุณหภูมิที่พอดี หรือแบ่งรอบการอุ่นที่จะช่วยไม่ให้เกิดความร้อนสะสมจนเกินไป
- ใส่ถุงมือก่อนหยิบอาหารออกจากไมโครเวฟ เนื่องจากภาชนะจะมีความร้อนจึงไม่ควรใช้มือเปล่าหยิบ ให้สวมถุงมือป้องกันความร้อน หรือใช้ผ้าหนามาใช้ในการหยิบแทนก็ได้เช่นกัน
- ควรอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ขณะที่ไมโครเวฟทำงาน เชื่อว่าหลายคนอาจจะต้องเคยนำอาหารเข้าไมโครเวฟทิ้งไว้แล้วไปทำธุระอย่างอื่นระหว่างรอ รวมถึงออกไปนอกห้องหรือนอกบ้านเลยก็ด้วย ซึ่งเป็นวิธีใช้ไมโครเวฟที่ไม่แนะนำอย่างยิ่ง เนื่องจากไมโครเวฟเป็นอุปกรณ์ที่ใช้กระแสไฟฟ้าและมีความร้อน หากปล่อยทิ้งไว้แบบห่างสายตาอาจนำไปสู่อุบัติเหตุไม่คาดฝันได้ ดังนั้น ควรเลือกฟังก์ชันอุ่นอาหารที่เหมาะสมและอยู่ในบริเวณใกล้เคียงพอที่จะได้ยินเสียงการทำงานของไมโครเวฟ เพื่อป้องกันเหตุอันตราย
รู้ถึงวิธีใช้ไมโครเวฟที่ถูกต้องและปลอดภัยกันไปแล้ว หากยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่นว่ามีข้อควรระวังใดอีกบ้าง สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ รวมข้อห้ามทำที่ควรรู้! เพื่อความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้าในบ้าน
วิธีใช้ไมโครเวฟที่ถูกต้องขึ้นอยู่กับการเลือกไมโครเวฟที่เหมาะสมต่อการใช้งานของเราด้วยเพราะปัจจุบันมีฟังก์ชันไมโครเวฟเพิ่มเติมเข้ามามากมายเพื่ออำนวยความสะดวก แต่อย่าลืมคำนึงถึงเรื่องขนาด วัตต์ หรือข้อจำกัดการใช้งานด้วย
ที่มา: electrolux