• 1,018 Views
  • Jun 30, 2023
  • 18 mins read

ข้อควรรู้! วิธีเลือกใช้ ‘ปลั๊กแปลงขา’ อย่างเหมาะสมเพื่อความปลอดภัยต่อการใช้งาน

ปลั๊กแปลงขา หนึ่งในอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้เมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อใช้เชื่อมต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าเข้ากับเต้ารับของประเทศนั้น ๆ เนื่องจากในแต่ละประเทศมีการใช้ปลั๊กไฟในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งในปัจจุบันปลั๊กแปลงขายังไม่มีมาตรฐาน มอก. มารองรับเหมือนกับปลั๊กพ่วง จึงทำให้หลายคนอาจรู้สึกกังวลที่จะเลือกซื้อมาใช้งาน วันนี้เซฟไทยจึงจะพาไปดูกันว่า… ควรเลือกซื้อปลั๊กแปลงขาอย่างไรจึงจะปลอดภัยต่อการใช้งาน

ทริกเลือกปลั๊กแปลงขาให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย

ทริกเลือกปลั๊กแปลงขา

1. ชนิดของหัวปลั๊กแปลงขา

ปลั๊กแปลงขาสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ปลั๊กแปลงขาหัวเดียว สำหรับการใช้งานแปลงขาปลั๊กรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งโดยเฉพาะ หรือแปลงขาปลั๊กเป็นกลมหรือแบนเพื่อใช้งานในประเทศ อีกหนึ่งประเภทคือปลั๊กแปลงขาแบบชุดหลายหัว หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ ‘International Adapter’ เป็นปลั๊กแปลงขาที่รวบรวมปลั๊กไฟหลากหลายรูปแบบ เหมาะสำหรับผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศ

ทั้งนี้ ก่อนเลือกซื้อปลั๊กแปลงขาแบบชุดหลายหัว เพื่อนำไปใช้งานในต่างประเทศ ผู้ใช้ควรศึกษาชนิดเต้ารับและเต้าเสียบของประเทศนั้น ๆ ให้ดี จากข้อมูลของคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานสาขาอิเล็กทรอนิกส์ (International Electrotechnical Commission) หรือ IEC ได้แบ่งประเภทของเต้ารับและเต้าเสียบออกเป็น 15 ประเภท ตามลักษณะของขาปลั๊ก โดยมีชื่อเรียกตามตัวอักษรภาษาอังกฤษ ดังนี้

ปลั๊ก 15 ประเภท

  • Type A หรือแบบ 2 ขาแบน ใช้สำหรับประเทศไทย, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, จีน, แคนาดา, กัมพูชา, กวม, ไซปัน, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, ฟิลิปปินส์, บราซิล, เม็กซิโก เป็นต้น
  • Type B หรือแบบ 2 ขาแบน 1 ขากลม ใช้สำหรับประเทศไทย, ญี่ปุ่น, จีน, ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ เป็นต้น
  • Type C หรือแบบ 2 ขากลม ใช้สำหรับประเทศไทย, อาร์เจนตินา, ไอร์แลนด์, อิตาลี, ออสเตรีย, สวิตเซอร์แลนด์, สเปน, เกาหลีใต้ เป็นต้น
  • Type D หรือแบบ 3 ขากลม ใช้สำหรับประเทศจีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, เคนยา, เนปาล, แอฟริกาใต้ เป็นต้น
  • Type E หรือแบบเต้าเสียบ 2 ขากลม เต้ารับ 1 ขากลม พร้อมกับคลิปกราวด์ 1 ด้าน ใช้สำหรับประเทศอินโดนีเซีย, ออสเตรีย, เยอรมนี, สวีเดน, เบลเยียม, ฝรั่งเศส เป็นต้น
  • Type F หรือแบบเต้าเสียบ 2 ขากลม พร้อมกับคลิปกราวด์ 2 ด้าน เป็นปลั๊กที่มีความใกล้เคียงกับ Type E ส่วนมากจึงสามารถใช้ร่วมกับเต้าเสียบเดียวกันได้ ปลั๊กชนิดนี้ใช้สำหรับประเทศออสเตรีย, อียิปต์, ฟินแลนด์, เยอรมนี, กรีซ, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, สเปน เป็นต้น
  • Type G หรือแบบ 2 ขาแบนแนวนอน 1 ขาแบนแนวตั้ง ใช้สำหรับประเทศอาร์เจนตินา, อินเดีย, สิงคโปร์, ฮ่องกง, จีน, มาเลเซีย, สหราชอาณาจักร เป็นต้น
  • Type H หรือแบบ 3 ขาแบนเรียงเป็นสามเหลี่ยม ใช้งานแค่ในประเทศอิสราเอลท่านั้น แต่ปัจจุบันการใช้งานปลั๊กชนิดนี้กำลังลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนไปใช้ปลั๊กชนิดอื่นแทน
  • Type I หรือแบบ 2 ขาแบนเรียงเป็นรูปตัว V และ 1 ขาแบนแนวตั้ง ใช้สำหรับประเทศจีน, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, อาร์เจนตินา, ปาปัวนิวกินี เป็นต้น
  • Type J หรือแบบ 3 ขากลม เนื่องจากเต้ารับชนิดนี้มีระยะห่างของปลั๊กขากลม 2 ขาเท่ากับ Type C จึงสามารถนำปลั๊กเต้าเสียบ Type C มาใช้กับเต้ารับ Type J ได้ ปลั๊กชนิดนี้ใช้สำหรับประเทศจอร์แดน, สวิตเซอร์แลนด์, มาดากัสการ์ เป็นต้น
  • Type K หรือแบบ 2 ขากลม 1 ขาครึ่งวงกลม มีลักษณะคล้ายหน้ายิ้ม และเต้ารับของปลั๊กชนิดนี้ก็สามารถใช้กับเต้าเสียบ Type C ได้เช่นกัน ปลั๊ก Type K ใช้สำหรับประเทศ เดนมาร์ก, กรีนแลนด์, บังกลาเทศ เป็นต้น
  • Type L หรือแบบ 3 ขากลมเรียงเป็นเส้นตรง ใช้สำหรับประเทศอิตาลี, ชิลี, อุรุกวัย เป็นต้น
  • Type M หรือแบบ 3 ขากลม แต่ขากราวด์จะมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ใช้สำหรับประเทศอินเดีย, คูเวต, มาเลเซีย, สิงคโปร์, แอฟริกาใต้ เป็นต้น
  • Type N หรือแบบ 3 ขากลมที่มีความใกล้เคียงกับปลั๊ก Type J แต่ระยะห่างของขากราวด์กับขาหลักของปลั๊ก Type N จะน้อยกว่าเล็กน้อย โดยปลั๊กชนิดนี้จะใช้ในประเทศบราซิลเป็นหลัก
  • Type O หรือแบบ 3 ขากลม มีการใช้งานเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น และได้รับการรับรองมาตรฐาน มอก. 166-2549

คุณภาพของวัสดุ

2. คุณภาพของวัสดุ

การซื้อปลั๊กแปลงขาควรเลือกที่ผลิตด้วยวัสดุที่มีคุณภาพสูงอย่าง พลาสติก ABS หรือโพลีคาร์บอเนต (PC) ซึ่งมีความทนทานต่อความร้อนและแรงกระแทกสูงกว่าพลาสติก PVC รวมถึงมีคุณสมบัติไม่ลามไฟ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเพลิงไหม้หรือไฟฟ้าลัดวงจรจากความร้อนขณะใช้งานติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการใช้ร่วมกับกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมาก เช่น หม้อทอด เตาไฟฟ้า หม้ออบลมร้อน เป็นต้น

ขาเต้ารับ

3. ขาเต้ารับ

ชิ้นส่วนภายในวงจรของปลั๊กแปลงขาอย่าง ‘ขาเต้ารับ’ ควรผลิตจากทองเหลืองหรือทองแดง เนื่องจากนำไฟฟ้าได้ดีกว่าโลหะชนิดอื่น ทำให้ไม่เกิดความร้อนสะสม จึงช่วยลดปัญหาปลั๊กละลายหรือไหม้ ซึ่งเป็นสาเหตุของไฟฟ้าลัดวงจรได้

หัวปลั๊กขากลม VS ขาแบน

4. หัวปลั๊กขากลม VS ขาแบน

สำหรับการใช้งานปลั๊กแปลงขาในประเทศไทย หลายคนอาจมองข้ามการเลือกขาปลั๊ก เนื่องจากคิดว่าแค่เสียบปลั๊กและใช้งานได้เพียงพอ แต่การเสียบปลั๊กกับเต้ารับไม่แน่น อาจทำให้เกิดความร้อนได้ และไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ ดังนั้นจึงขอแนะนำให้เลือกปลั๊กแปลงขาแบบขากลม เนื่องจากจะเสียบกับเต้ารับได้แน่นกว่า รวมถึงควรเลือกปลั๊กแปลงขาที่มีฉนวนหุ้มบริเวณขาปลั๊กเพื่อป้องกันไฟรั่วขณะสัมผัสโดยตรง

กำลังไฟที่ระบุบนหัวปลั๊กแปลงขา

5. กำลังไฟที่ระบุบนหัวปลั๊กแปลงขา

ก่อนซื้อปลั๊กแปลงขาควรสังเกตการรองรับแรงดันไฟที่ระบุอยู่บนหัวปลั๊ก เพื่อป้องกันการเกิดความร้อนจากการใช้ไฟเกินขนาด เช่น 10A 250V หมายถึง สามารถรองรับกระแสไฟได้สูงสุด 10 แอมป์ และแรงดันไฟฟ้าไม่เกิน 250 โวลต์ นอกจากนี้เพื่อความปลอดภัยอาจเลือกใช้ปลั๊กแปลงขาที่มีระบบฟิวส์ตัดไฟในกรณีที่มีการใช้กระแสไฟฟ้ามากเกินไป หรือแบบมีสวิตช์เปิด-ปิด เพื่อป้องกันไฟกระชากขณะถอดปลั๊ก

เลือกใช้ปลั๊กแปลงขาที่มีม่านนิรภัย

6. เลือกใช้ปลั๊กแปลงขาที่มีม่านนิรภัย ในกรณีที่ในบ้านมีเด็ก

หากที่บ้านมีเด็กเล็กควรเลือกใช้ปลั๊กแปลงขาที่มีม่านนิรภัย หรือ Safety Shutter ที่มีลักษณะเป็นแผ่นพลาสติกกั้นเพื่อป้องกันไฟช็อตหรือไฟดูดจากการเอานิ้วแหย่ไปในรู นอกจากนี้ม่านนิรภัยยังช่วยให้ปลั๊กแน่นขึ้นได้อีกด้วย

เซฟไทยหวังว่าเทคนิคทั้ง 6 ข้อนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่กำลังตัดสินใจจะซื้อปลั๊กแปลงขา และช่วยให้การใช้งานของคุณอุ่นใจด้วยอุปกรณ์ที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน

ที่มา: changfi

baanlaesuan

baan9chang

plugthai

my-best

kkpc846