• 623 Views
  • August 23, 2022
  • 4 mins read

ไขข้อสงสัย ทำไมต้องต่อสายดิน พร้อมบอกทริกว่าสายดินที่บ้านใช้ได้

‘การต่อสายดิน’ เป็นหนึ่งในการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากเครื่องใช้ไฟฟ้าในกรณีที่เกิดไฟรั่ว หากที่อยู่อาศัยของเราไม่ได้ติดตั้งสายดิน เมื่อมีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไฟรั่วอยู่ แล้วผู้ใช้ไปสัมผัสหรือใช้งานจะทำให้ถูกไฟดูดได้ แต่ถ้าต่อสายดินเรียบร้อยแล้ว ไฟที่รั่วอยู่นั้นจะถูกนำลงดินผ่านสายดิน แทนที่จะเข้าสู่ร่างกายของเรานั่นเอง

ถ้าจะให้เห็นภาพมากขึ้น เชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นประโยค ‘อันตรายถึงชีวิต หากไม่ติดตั้งสายดิน’ ผ่านตากันมาแล้ว โดยเฉพาะบนเครื่องทำน้ำอุ่น เนื่องจากเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับน้ำ หากเกิดไฟรั่วแล้วไม่ต่อสายดินจะส่งผลให้ได้รับอันตราย บาดเจ็บ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย ฉะนั้น วันนี้เซฟไทยจะมาบอกถึงความสำคัญของการต่อสายดิน พร้อมทริกสังเกตว่าที่อยู่อาศัยของเรานั้นได้ทำการต่อสายดินไปแล้วหรือยัง เพื่อให้ทุกคนดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย

สายดิน

สายดิน คืออะไร?

สายดิน คือ ตัวนำที่ต่อจากโครงโลหะของอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสิ่งที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะนำกระแสไฟฟ้าที่ไม่ต้องการให้ไหลลงสู่ดิน ช่วยให้ในกรณีที่เกิดไฟรั่ว กระแสไฟนี้จะไหลลงดินแทนการไหลเข้าสู่ร่างกายของผู้ใช้งาน

สิ่งที่ควรรู้ก่อนต่อสายดิน

องค์ประกอบหลัก ๆ ของสายดินมีอยู่ 2 ส่วน ได้แก่

1. สายต่อหลักดิน (Grounding Electrode Conductor)

เป็นสายตัวนำที่ใช้ต่อระหว่างหลักดินกับส่วนที่ต้องการต่อลงดิน ซึ่งจะต้องเป็นสายตัวนำทองแดงชนิดตัวนำเดี่ยว ภายในสายประกอบด้วยลวดทองแดง และหุ้มด้วยฉนวน PVC ตามมาตรฐานได้กำหนดให้ใช้สายที่มีฉนวนสีเขียวหรือสีเขียวสลับแถบสีเหลือง ซึ่งเป็นสีเฉพาะของสายดิน และที่สำคัญต้องเป็นตัวนำเส้นเดียวยาวตลอด ไม่มีการตัดต่อ ขนาดสายตามมาตรฐานของ วสท.

สายต่อหลักดิน

การเลือกขนาด สามารถเลือกตามขนาดตัวนำประธาน (สายเมน) ของระบบไฟฟ้า โดยส่วนใหญ่แล้วถ้าเป็นอาคารขนาดเล็ก มักไม่เกิน 35 ตารางมิลลิเมตร ดังนั้น จึงควรใช้สายต่อหลักดินขนาด 10 ตารางมิลลิเมตร

2. หลักดิน (Ground Rod)

แท่งโลหะที่ใช้ฝังลงในดิน เพื่อเป็นตัวเชื่อมสายต่อหลักดินจากเมนสวิตช์เข้ากับดิน หลักดิน ลักษณะหลักดินที่ใช้กันทั่วไปมักทำจากเหล็กหุ้มด้วยทองแดง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 มิลลิเมตร (5/8 นิ้ว) ความยาว 2.40 เมตร และเมื่อตอกลงดินแล้วต้องมีความต้านทานการต่อลงดินไม่เกิน 5 โอห์ม

เมนสวิตช์

วิธีต่อสายดินอย่างถูกต้องปลอดภัย

เพื่อการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปลอดภัยอย่างสมบูรณ์จะต้องต่อสายดินทั้ง 2 ส่วนด้วยกัน คือ

1. การต่อสายดิน แบบลงดินที่เมนสวิตช์ – เป็นการต่อสายนิวทรัล (N) ลงดิน ซึ่งสายดินและสายนิวทรัล สามารถต่อร่วมกันได้เพียงแห่งเดียวที่จุดต่อลงดินภายในตู้เมนสวิตช์ ห้ามต่อร่วมกันในที่อื่นอีก เช่น ในแผงสวิตช์ย่อยของชั้นบน สำหรับเมนสวิตช์แบบ Consumer Unit จะมีขั้วต่อสายนิวทรัล และเครื่องหมายบอกจุดต่อลงดินไว้

2. การต่อสายดิน แบบลงดินของเครื่องใช้ไฟฟ้า – เป็นการเชื่อมต่อสายไฟจากที่ต่อสายดินไว้ให้เข้ากับโครงของเครื่องใช้ไฟฟ้า เดินสายต่อลงดินไปที่เมนสวิตช์ ซึ่งสายดินจะถูกเดินไปควบคู่กับสายที่จ่ายไฟให้เครื่องใช้ไฟฟ้า

รู้ไหม? กฎหมายกำหนดให้ทุกบ้านต้องมีระบบต่อสายดิน

ตั้งแต่ พ.ศ.2539 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ออกประกาศให้ผู้ยื่นขอใช้ไฟฟ้ารายใหม่ จะต้องเดินสายไฟฟ้าให้มีระบบต่อลงดิน รวมทั้งต้องติดตั้งเต้ารับไฟฟ้าชนิดที่มีขั้วสำหรับสายดิน โดยข้อบังคับนี้ เป็นการกำหนดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ขอใช้ไฟฟ้าใหม่ รวมทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าที่ยื่นขอเพิ่มขนาดมิเตอร์ไฟฟ้า ต้องปฏิบัติตามในเรื่องของการติดตั้งระบบสายดินควบคู่กับระบบไฟฟ้าที่ติดตั้ง เพื่อความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้า

เครื่องใช้ไฟฟ้าต่อสายดิน

ทริกสังเกตว่าที่อยู่อาศัยต่อสายดินแล้วหรือยัง

บ้านไหนที่ต่อสายดินเรียบร้อยแล้ว เต้าเสียบหรือปลั๊กไฟจะมี 3 ขา แต่ถ้าเต้าเสียบเป็น 2 ขา นั่นหมายความว่าไม่มีการติดตั้งสายดินนั่นเอง แต่ก็ไม่ใช่เต้าเสียบ 3 ขาทุกอันจะต่อสายดินแล้วเท่านั้นนะ เพราะมันก็เป็นรูปแบบหนึ่งของเต้าเสียบ ซึ่งเต้าเสียบ 2 ขาที่ต่อสายดินก็มีเช่นกัน โดยสามารถเช็กได้ง่าย ๆ ว่ามีการต่อสายดินหรือไม่ ด้วยการใช้ไขควงวัดไฟ หรือจะให้ช่างผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบก็ได้

เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นต่อสายดิน คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภท 1 เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีโอกาสไฟรั่วง่าย หรือมีส่วนประกอบภายนอกเป็นโลหะ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำและความร้อน ได้แก่ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำร้อน/น้ำอุ่น เตารีด หม้อหุงข้าว เตาไฟฟ้า เป็นต้น

ใครที่เคยมองข้ามเรื่องการต่อสายดินไป รู้แบบนี้แล้วก็อย่าลืมกลับไปเช็กดูนะว่าที่บ้านของเพื่อน ๆ มีการต่อสายดินแล้วหรือไม่ หากยังล่ะก็…รีบดำเนินการได้เลย เพื่อความปลอดภัยของทุกคนในบ้าน

ที่มา : การไฟฟ้านครหลวง
PEA CHANNEL THAILAND
baanlaesuan