• 45 Views
  • April 10, 2023
  • 7 mins read

รู้จัก ‘พลังงานหมุนเวียน’ เชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันการใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกำลังได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนใหญ่ไฟฟ้าที่เราใช้นั้นมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไม่ว่าจะเป็น ถ่านหิน (Coal) หรือก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) ที่ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น เพราะเหตุนี้ ‘พลังงานหมุนเวียน’ จึงเป็นพลังงานทางเลือกที่สามารถใช้ทดแทนกันได้อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วันนี้ทางเซฟไทยจะพาไปทำความรู้จักและความสำคัญของพลังงานหมุนเวียนกัน

การใช้พลังงานแฝงอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การอยู่อาศัย ไปจนถึงการประกอบอาหารเลยทีเดียว ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตอย่างมากและมีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยการผลิตพลังงานส่วนใหญ่มักมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นพลังงานที่ใช้แล้วจะหมดไป และส่งผลกระทบให้โลกร้อน ดังนั้น พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่าง ‘พลังงานหมุนเวียน’ จึงเป็นพลังงานที่จะมีบทบาทสำคัญต่อโลก เนื่องจากเป็นพลังงานที่มาจากธรรมชาติ ใช้แล้วไม่มีวันหมดไป และที่สำคัญคือไม่ส่งผลกระทบต่อโลกอีกด้วย

รู้จัก พลังงานหมุนเวียน คืออะไร

รู้จัก พลังงานหมุนเวียน คืออะไร

พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) คือ พลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพราะมีแหล่งกำเนิดมาจากธรรมชาติ เช่น ลม น้ำ แสงอาทิตย์ ความร้อนใต้พิภพ และชีวมวล เป็นต้น โดยพลังงานหมุนเวียนถือเป็นพลังงานสะอาด ไม่ก่อมลพิษ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases : GHG) สาเหตุของภาวะโลกร้อน ซึ่งพลังงานหมุนเวียนมีประสิทธิภาพสามารถใช้ทดแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างไม่ทำร้ายโลก

ตัวอย่างพลังงานหมุนเวียนที่ใกล้ตัวและพบเห็นได้บ่อยมากที่สุดคือ โซลาร์เซลล์ (Solar Cell) โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้ พลังงานหมุนเวียนนั้นมีด้วยกันหลายประเภท ดังนี้

พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy)

  1. พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy)

หนึ่งในแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา โดยเฉพาะบ้านไหนที่ใช้ ‘โซลาร์เซลล์’ แผงวงจรแสงอาทิตย์ ที่สามารถเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ นำไปใช้ประโยชน์ได้เลยหรือเก็บไว้ในแบตเตอรี่ไว้ใช้ภายหลังได้ (ขึ้นอยู่กับระบบโซลาร์เซลล์ที่เราใช้ หากเป็นระบบ On Grid จะไม่มีแบตเตอรี่) ไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์สามารถใช้ได้ทั้งในครัวเรือน บ้านที่อยู่อาศัย และโรงงานอุตสาหกรรม

พลังงานลม (Wind Energy)

  1. พลังงานลม (Wind Energy)

พลังงานหมุนเวียนที่มาจาก ‘กระแสลม’ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เป็นการไหลของอากาศ สามารถนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าได้เช่นกัน เมื่อกระแสลมพัดมาโดนกังหันลมที่เป็นตัวกลางในการแปลงพลังงานจลน์เป็นพลังงานกลเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้า ข้อจำกัดของการใช้ประโยชน์จากพลังงานลมจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีความเร็วลมสม่ำเสมอ และปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ มักขึ้นอยู่กับความเร็วของลม ความยาวของใบพัด และสถานที่ติดตั้งกังหันลม

พลังงานน้ำ (Hydropower)

  1. พลังงานน้ำ (Hydropower)

กระแสน้ำตามธรรมชาติก็เป็นพลังงานหมุนเวียนที่พบได้ทั่วไปที่มีให้หมุนเวียน ใช้อย่างไม่มีวันหมดนอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานในการผลิตไฟฟ้าได้ โดยการเปลี่ยนพลังงานจากน้ำที่เก็บกักในเขื่อนไหลผ่านท่อส่งน้ำ ผ่านกังหันน้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแล้วแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งปริมาณพลังงานที่ได้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งปริมาณน้ำ ระดับน้ำ ประสิทธิภาพของกังหัน พลังงานน้ำยังแบ่งประเภทได้อีกเป็น พลังงานน้ำขึ้นน้ำลง พลังงานคลื่น พลังงานน้ำตก เป็นต้น

พลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal Energy)

  1. พลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal Energy)

พลังงานหมุนเวียนชนิดนี้เป็นพลังงานความร้อนที่อยู่ใต้ผิวโลกเช่นเดียวกับน้ำมันปิโตรเลียม แต่อยู่ในรูปแบบของน้ำร้อน หรือไอน้ำที่แทรกตัวตามแนวรอยแตกของชั้นหินขึ้นมาบนผิวดิน ในรูปแบบขแงบ่อน้ำร้อน ไอน้ำร้อน บ่อโคลนเดือน เป็นต้น การนำพลังงานความร้อนใต้พิภพมาผลิตไฟฟ้า ทำได้โดยนำน้ำรเอนไปถ่ายเทความร้อนให้กับของเหลวที่มีจุดเดือดต่ำ จนกระทั่งเดือดเป็นไอ แล้วนำไอนี้ไปหมุนกังหันที่มีเพลาต่อกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้าต่อไป

พลังงานชีวมวล (Biomass)

  1. พลังงานชีวมวล (Biomass)

วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรก็เป็นพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘พลังงานชีวมวล’ ที่ถูกกักเก็บในรูปของสารอินทรีย์จากเศษวัสดุเกษตรกรรม พลังงานชนิดนี้ผลิตมาจากการนำสารอินทรีย์ไม่ว่าจะเป็น ขยะอินทรีย์ มูลสัตว์ แกลบ ฟางข้าว ชานอ้อย ใบและยอดอ้อย เศษไม้ ไม้โตเร็ว เส้นใยและกะลาปาล์ม กากมันสำปะหลัง ซังข้าวโพด กาบและกะลามะพร้าว ไปจนถึงขยะมูลฝอย สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย นอกจากเป็นพลังงานสะอาดแล้ว ยังเป็นวิธีการกำจัดขยะอาหาร (Food Waste) ได้อีกด้วย

ข้อดีของพลังงานหมุนเวียน

  • เป็นพลังงานสะอาด หมุนเวียนนำกลับมาใช้ได้อย่างไม่มีวันหมด
  • เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ ถือเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

พลังงานหมุนเวียนช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ช่วยลดปัญหามลพิษ สามารถนำมาใช้ทดแทนพลังงานฟอสซิลได้ไม่จำกัด ตอบสนองนโยบาย Net Zero ให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายภายในปี 2065 เป็นการสร้างสมดุลในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ และเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาภาวะโลกร้อน

ที่มา: egat

ovoenergy

cloverpower