• 1,067 Views
  • Oct 21, 2021
  • 7 mins read

ไฟเกษตรคืออะไร? แตกต่างจากไฟปกติอย่างไร? แล้วควรรู้จักไปทำไม?

ไฟเกษตรไม่ใช่เรื่องที่ใหม่มากนักในแวดวงไฟฟ้า แต่เซฟไทยเชื่อว่ายังมีเพื่อน ๆ อีกหลายคนที่ยังไม่รู้จักว่าไฟเกษตรคืออะไร? แตกต่างจากไฟปกติอย่างไร? แล้วทำไมถึงควรรู้จัก?

ไฟเกษตร

ไฟเกษตร คือ ไฟเกษตรคือไฟที่มีไว้ใช้สำหรับทำการเกษตรกรรมประเภทต่าง ๆ เช่น ไฟเดินเครื่องสูบน้ำ จ่ายน้ำ จ่ายไฟ ในสวน ไร่ นา เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่ว่าใครจะสามารถใช้ไฟเกษตรได้ แต่ต้องผ่านเกณฑ์คุณสมบัติต่าง ๆ ที่โครงการกำหนดด้วย

จะขอไฟเกษตร ต้องผ่านเกณฑ์อะไรบ้าง?

1. ตรวจสอบให้แน่ชัดว่าพื้นที่ที่จะขอใช้ไฟไม่ได้เป็นพื้นที่หวงห้ามจากราชการ เพื่อที่จะได้รับการรับรองจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานราชการ

2. เส้นทางต้องเป็นสาธารณะและสามารถสัญจรได้อย่างสะดวก

3. จุดที่ขอใช้ไฟฟ้าต้องสามารถเข้าถึงได้จากระบบจำหน่ายโดยวิธีปักเสาพาดสาย

4. ได้รับการรับรองด้านขนาดพื้นที่และชนิดของกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานราชการ

5. ระบุแหล่งน้ำที่จะใช้ในการผลิตทางการเกษตรให้ชัดเจน

6. ที่ดินต้องต้องไม่ถูกถือครองโดยเอกชนรายใหญ่ และต้องมีเอกสาร/หลักฐานสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือหนังสือสัญญาเช่าที่ดินทำกินที่ถูกต้องตามกฎหมายของพื้นที่ทำการเกษตร

7. เป็นเกษตรกรรายย่อยที่ขอติดตั้งมิเตอร์ขนาดไม่เกิน 15(45) แอมป์ต่อ 1 ราย ซึ่งมีค่าธรรมเนียม ดังนี้

๐ ติดตั้ง 5(15) แอมป์ ราคา 1,000 บาท
๐ ติดตั้ง 15(45) แอมป์ 1 เฟส ราคา 6,450 บาท
๐ ติดตั้ง 15(45) แอมป์ 3 เฟส ราคา 21,350 บาท

* หมายเหตุ * อ่านรายละเอียดความแตกต่างระหว่างไฟ 1 เฟส และ ไฟ 3 เฟส ได้ที่นี้

8. ทั้งมิเตอร์เก่าและใหม่ต้องอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของการไฟฟ้าเดียวกัน และต้องสามารถออกใบแจ้งหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าของมิเตอร์ใหม่ โดยแจ้งเก็บเงินที่มิเตอร์เก่าได้

9. ค่าใช้จ่ายในการขยายเขตต่อรายเฉลี่ยไม่เกิน 50,000 บาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) รับผิดชอบค่าใช้จ่าย

 

เอกสารที่ต้องเตรียม

จากข้างต้นที่เป็นเกณฑ์ในการเข้าร่วมโครงการแล้ว ยังมีเอกสารเพิ่มเติมที่ผู้ขอยื่นเรื่องต้องเตรียมไว้ด้วย ดังนี้

1. สำเนาทะเบียนบ้าน
2. สำเนาบัตรประชาชน
3. สำเนาโฉนดที่ดิน
4. เอกสารรับรองจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานราชการ

 

อัตราค่าไฟที่ต่างออกไป

หนึ่งในหลายเหตุผลที่ว่าทำไมเพื่อน ๆ จึงควรทำความรู้จักกับไฟเกษตรไว้ก็เพื่อที่จะได้ตรวจดูว่าตนเองหรือคนรอบข้างสามารถใช้ประโยชน์จากไฟเกษตรได้หรือไม่ หากใครที่กำลังจะริ่เริ่มทำการเกษตรก็จะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อีกด้วย เพราะความต่างระหว่างไฟเกษตรและไฟปกติก็คือ อัตราค่าไฟฟ้านั่นเอง

ประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย

ในประเภทที่ 1 นั้นเป็นประเภทที่คุ้นชินกันมากที่สุดสำหรับผู้ใช้ไฟ เพราะเป็นประเภทที่เกี่ยวเนื่องกับบ้านเรือนและที่พักอาศัย โดยมีอัตรา ดังนี้

 

อัตราปกติ (บาท / หน่วย)
ใช้ไฟไม่เกิน 150 หน่วย / เดือน
– 15 หน่วยแรก (หน่วยที่ 0 – 15) 2.3488
– 10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 16 – 25) 2.9882
– 10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 26 – 35) 3.2405
– 65 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 36 – 100) 3.6237
– 50 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 101 – 150) 3.7171
– 250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151 – 400) 4.2218
– เกิน 400 หน่วยขึ้นไป (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) 4.4217
ค่าบริการ 8.19

ใช้ไฟเกิน 150 หน่วย / เดือน
– 150 หน่วยแรก (หน่วยที่ 0 – 150) 3.2484
– 250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151 – 400) 4.2218
– เกิน 400 หน่วยขึ้นไป (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) 4.4217
ค่าบริการ 38.22

ประเภทที่ 7 สูบน้ำเพื่อการเกษตร

ประเภทที่ 7 มีไว้เพื่อการใช้ไฟฟ้ากับเครื่องสูบน้ำเพื่อการเกษตรของหน่วยงานราชการ กลุ่มเกษตรที่จดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรหรือที่หน่วยงานราชการรับรอง โดยมีอัตรา ดังนี้

อัตราปกติ (บาท / หน่วย)
– 100 หน่วยแรก (หน่วยที่ 0 – 100) 2.0889
– เกิน 100 หน่วยขึ้นไป (หน่วยที่ 101 เป็นต้นไป) 3.2405
ค่าบริการ 115.16

* หมายเหตุ * อ้างอิงจากประกาศเรื่อง การทบทวนอัตราค่าไฟฟ้า ณ วันที่ 28 กันยายน 2561

 

จะเห็นได้ชัดว่าถึงแม้ค่าบริการของประเภทที่ 7 จะสูงกว่าประเภทที่ 1 แต่อัตราค่าไฟฟ้ากลับน้อยกว่า

ดังนั้นหากใครอยากลองขอไฟเกษตร เซฟไทยแนะนำให้ลองชั่งน้ำหนักดูถึงสิ่งที่ต้องเสียและสิ่งที่จะได้นะครับ

ด้วยความปรารถนาดีจาก เซฟไทย

source01 source02 source03 source04