• 78 Views
  • Jan 11, 2023
  • 1 mins read

เผยวิธีเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นให้หน้าหนาวนี้ได้ใช้อย่างถูกต้อง

ในที่สุดเราก็ได้สัมผัสกับลมเย็น ๆ ในหน้าหนาวกันแล้ว แต่ทว่าความไม่เคยชินกับการอาบน้ำเย็นหรือน้ำอุณหภูมิห้อง เพราะเราเป็นประเทศร้อนนั้นอาจทำให้หลายคนรู้สึกทรมานได้ ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่าง ‘เครื่องทำน้ำอุ่น’ จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ควรมีติดบ้านเอาไว้

ทางเซฟไทยจึงมีวิธีเลือกเครื่องทำน้ำอุ่น เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้สามารถนำไปเลือกซื้อกันได้อย่างเหมาะสมกับบ้านและความต้องการมาฝากทุกคนแล้ว

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่ชอบอาบน้ำเย็นในหน้าหนาว จะอาบได้แต่ละทีก็ต้องใช้เวลาทำใจไม่น้อย การมีข้อมูลรู้ถึงวิธีเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นอย่างเหมาะสมคงจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ทำให้ไม่ต้องใช้เวลาเตรียมตัวอาบน้ำนานจนเกินไป ซึ่งบทความนี้จะพาทุกคนไปดูวิธีเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นกันว่าจะมีอะไรบ้าง

วิธีเลือกเครื่องทำน้ำอุ่น ให้อุ่นทั้งกายและใจ แถมปลอดภัยไร้กังวล

ระบบเครื่องทำน้ำอุ่น

  1. ประเภทระบบทำความร้อนของเครื่องทำน้ำอุ่น

อย่างแรกของวิธีเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นที่ต้องรู้เลยก็คือ เครื่องทำน้ำอุ่นทั่วไปที่มักพบเห็นได้บ่อยจะถูกแบ่งระบบทำความร้อนภายในออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

  • เครื่องทำน้ำอุ่นสำหรับอาบน้ำ เป็นแบบที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย มีการติดตั้งที่ต้องใช้กับฝักบัว สามารถอาบน้ำได้โดยตรง มีหลักการทำงานคือเครื่องจะทำอุณหภูมิน้ำให้มีความร้อนขึ้นด้วยฮีตเตอร์ ผ่านการควบคุมบนตัวเครื่อง แล้วปล่อยกระแสน้ำออกมานั่นเอง หมายความว่า เครื่องทำน้ำอุ่นจะจ่ายน้ำเข้าสู่ฝักบัวให้เราได้อาบอย่างทันที เหมาะกับบ้านที่มีพื้นที่จำกัดหรือมีจุดจ่ายน้ำไม่มากนัก
  • เครื่องทำน้ำอุ่นแบบหม้อต้ม ตัวหม้อต้มจะเปรียบเสมือนเป็นอุปกรณ์กระจายความร้อนไปสู่จุดจ่ายน้ำต่าง ๆ โดยหม้อต้มจะต้องติดตั้งอยู่จุดใดจุดหนึ่งแล้วตัวเครื่องจะกระจายความร้อนไปยังอุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่านก๊อกเพื่อผสมน้ำก่อนไหลเข้าสู่การจ่ายน้ำด้วยฝักบัว เหมาะสำหรับบ้านหลังใหญ่หรือมีพื้นที่ในการติดตั้ง และต้องใช้น้ำอุ่นหลายบริเวณ

ส่วนระบบทำความร้อนภายใน สามารถจำแนกได้ 3 ประเภท ดังนี้

ประเภทระบบความร้อน เครื่องทำน้ำอุ่น

  • ระบบหม้อต้มทองแดง – เป็นระบบดั้งเดิมที่จะมีทองแดงทรงกระบอกประกอบอยู่ภายในเครื่อง ทำให้ได้น้ำร้อนอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิคงที่ มีความทนทานสูง แต่ถ้าใช้งานไปนาน ๆ อาจเกิดการอุดตันหรือรั่วซึมจากหินปูนที่สะสมอยู่ในตัวเครื่องที่ไม่สามารถถอดออกมาทำความสะอาดได้
  • ระบบขดลวดทองแดง – น้ำที่ไหลเข้ามาจะผ่านความร้อนของทองแดงที่ขดเป็นลวด จะได้น้ำที่ร้อนอย่างรวดเร็วและค่อนข้างแรง แต่ก็มีโอกาสอุดตันได้ง่าย และหากแรงดันน้ำไม่สม่ำเสมอจะส่งผลให้อุณหภูมิน้ำที่ไม่สม่ำเสมอ
  • ระบบหม้อต้มพลาสติกกริลลอน – พบได้ในปัจจุบันเป็นหลัก ซึ่งพัฒนามาจากหม้อต้มทองแดง โดยตัวหม้อต้มมีวัสดุเป็นพลาสติกกริลลอนที่มีคุณภาพสูง ทนความร้อนได้ดี ช่วยลดโอกาสเกิดการอุดตันจากตะกรันภายในตัวเครื่อง แต่ใช้เวลาในการทำความร้อนสักครู่
  1. รูปแบบการควบคุมบนตัวเครื่อง

วิธีเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นจะต้องดูรูปแบบของเครื่องทำน้ำอุ่นด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีด้วยกันหลากหลาย หลัก ๆ จะมีแบบหมุนหรือกดปุ่มเพื่อควบคุมอุณหภูมิที่ต้องการ และระบบดิจิทัล เป็นหน้าจอแสดงผล ซึ่งทั้งสองแบบก็ใช้งานง่าย ทำความเข้าใจได้ไม่ยากนัก

กำลังวัตต์เครื่องทำน้ำอุ่น

  1. วิธีเลือกเครื่องทำน้ำอุ่น ควรเลือกกำลังไฟ (วัตต์) ที่เหมาะสม

แน่นอนว่าเครื่องทำน้ำอุ่นเป็นอีกหนึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้กำลังไฟมาก ดังนั้น วิธีเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นจึงจำเป็นจะต้องตรวจสอบกำลังไฟจากมิเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเครื่องทำน้ำอุ่นจะมีกำลังวัตต์ตั้งแต่ 3,500 วัตต์, 4,500 วัตต์ และ 6,000 วัตต์ ให้เลือกตามความเหมาะสมของการใช้งาน

วิธีเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นอีกหนึ่งอย่างก็คือ หากมิเตอร์ไฟขนาด 5(15) เหมาะกับกำลังวัตต์ไม่เกิน 3,500 วัตต์ ส่วนมิเตอร์ไฟขนาด 15(45) เหมาะกับกำลังวัตต์ 4,500-6,000 วัตต์ และที่สำคัญอย่าลืมมองหาเครื่องทำน้ำอุ่นที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5

ความปลอดภัยของเครื่องทำน้ำอุ่น

  1. วิธีเลือกเครื่องทำน้ำอุ่น ต้องอย่าลืมคำนึงถึงระบบความปลอดภัยต่าง ๆ

‘อันตรายถ้าไม่ติดตั้งสายดิน’ ประโยคที่พบได้บ่อยกับเครื่องทำน้ำอุ่น เพราะเป็นระบบที่สำคัญมากในความปลอดภัยของการใช้งาน นอกจากนี้ยังควรดูระบบความปลอดภัยอื่น ๆ ด้วย อาทิ ระบบตัดไฟอัตโนมัติ, สวิตช์ควบคุมอุณหภูมิ เพื่อตัดไฟเวลาที่น้ำร้อนแล้ว เพราะหากเผลอเปิดทิ้งไว้อาจทำให้ไฟไหม้ได้, ดูตำแหน่งสวิตช์ควบคุมแรงดันน้ำ ป้องกันไฟดูดหากเกิดน้ำรั่วลงบนสวิตช์ รวมไปถึงมีมาตรฐานความปลอดภัยจากหน่วยงาน เช่น มาตรฐาน มอก. เป็นต้น

สำหรับใครที่กำลังหาวิธีเลือกเครื่องทำน้ำอุ่นเป็นตัวช่วยในหน้าหนาวนี้ อย่าลืมนำข้อมูลดี ๆ แบบนี้ไปใช้ประกอบการตัดสินใจกันล่ะ เพราะหากเลือกแต่เพียงดีไซน์จนมองข้ามฟังก์ชันการใช้งานที่เหมาะสมไปอาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาได้

ที่มา : homeguru

globalhouse