• 2,431 Views
  • Feb 08, 2023
  • 4 mins read

ทำความรู้จัก ‘สายไฟ’ บนเสาไฟฟ้า ตัวนำพลังงานที่สำคัญมาให้ชุมชน

เคยสงสัยไหมว่า…บนเสาไฟฟ้า 1 ต้น ที่เราเห็นกันอยู่เป็นประจำตามท้องถนน หรือหน้าบ้านนั้น ประกอบไปด้วยสายอะไรบ้าง ? แล้วสายทุกเส้นทำหน้าที่เหมือนกันหมดเลยงั้นเหรอ ? วันนี้ทางเซฟไทยมาตอบให้หายสงสัยแล้ว พร้อมพาไปทำความรู้จักกับประเภทของเสาไฟฟ้าว่าแต่ละแบบมีการใช้งานที่ตอบโจทย์ต่างกันอย่างไรบ้าง

สายไฟ คืออะไร

สายไฟ ถือเป็นหนึ่งในส่วนประกอบทางไฟฟ้าที่ใช้สำหรับเชื่อมต่อแหล่งจ่ายไฟฟ้ากับเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อให้เปิดใช้งานได้ โดยส่วนมากมักติดตั้งได้ทั้งแบบเหนือศีรษะและใต้ดิน ซึ่งในสายไฟ 1 เส้นจะประกอบด้วย ตัวนำ ฉนวน และเปลือกนอก ทั้งนี้สายไฟแต่ละชนิดจะถูกออกแบบอย่างแตกต่างกันเพื่อตอบโจทย์การใช้งานและตามโครงสร้าง เช่น สายไฟที่ประกอบด้วยตัวนำไฟฟ้าอย่างเดียว, สายไฟที่ประกอบด้วยฉนวนหุ้มตัวนำไฟฟ้า และสายไฟที่ประกอบด้วยเปลือกหุ้มอยู่ภายใน เป็นต้น

เสาไฟฟ้า มีอะไรบ้าง

เสาไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์ที่รองรับการติดตั้งสายไฟให้อยู่เหนือพื้นดิน ติดตั้งด้วยวิธีใช้ถ้วยยึดจับสายไฟฟ้า เหตุผลสำคัญที่สายไฟควรอยู่เหนือพื้นดินเป็นเพราะสายไฟฟ้าโดยทั่วไปเป็นสายเปลือกที่มีอันตราย หากเราเผลอไปสัมผัสโดยไม่รู้ตัว รวมถึงหากเกิดความผิดปกติขึ้น ก็จะส่งผลกระทบได้อีกมากมาย

อีกหนึ่งความสำคัญของเสาไฟฟ้าคือ ต้องมีความแข็งแรงและมั่นคง เพื่อรองรับน้ำหนักได้เป็นอย่างดี เนื่องจากในอดีตเสาไฟฟ้าทำขึ้นด้วยไม้ จึงส่งผลให้อายุการใช้งานสั้นและเป็นวัสดุที่เริ่มหายาก ปัจจุบันเสาไฟฟ้าจึงเปลี่ยนมาเป็นแบบคอนกรีตและแบบเสาอะลูมิเนียมแทนแล้วในบางพื้นที่

ประเภทของเสาไฟฟ้า

เสาไฟฟ้าแบบคอนกรีต

  1. เสาไฟฟ้าแบบคอนกรีต

ส่วนใหญ่แบ่งออกเป็น 6 ขนาด ได้แก่ 6 เมตร, 8 เมตร, 9 เมตร, 12 เมตร, 14 เมตร และ 22 เมตร ตามความเหมาะสมต่อการใช้งาน ดังนี้

  • เสาไฟฟ้าคอนกรีต 6 เมตร เหมาะกับเสาสำหรับพาดไฟฟ้าสายแรงต่ำ
  • เสาไฟฟ้าคอนกรีต 8 เมตร เหมาะสำหรับการจ่ายไฟฟ้าต่ำแบบ 1 เฟส 2 สาย และ 3 สาย รวมถึง 2 เฟสแบบ 3 สาย พร้อมกับสายดับไฟถนน มีความต้านทานโมเมนต์ระดับดินตั้งแต่ 760 กิโลกรัมขึ้นไป
  • เสาไฟฟ้าคอนกรีต 9 เมตร เหมาะสำหรับการจ่ายไฟต่ำแบบ 3 เฟส 4 สาย หรือแบบ 2 วงจร มีความต้านทานโมเมนต์ระดับดินตั้งแต่ 590 กิโลกรัมขึ้นไป
  • เสาไฟฟ้าคอนกรีต 12 เมตร เหมาะกับการจ่ายไฟฟ้าสูง มีความต้านทานโมเมนต์ระดับดินตั้งแต่ 2,550 กิโลกรัมขึ้นไป สำหรับรุ่นใหม่จะมีสายดินแบบลวดตีเกลียว 25 ตมม. ฝังอยู่ในเสาแล้วเรียบร้อย พร้อมติดตั้ง
  • เสาไฟฟ้าคอนกรีต 14 เมตร เหมาะกับการจ่ายไฟฟ้าแรงสูง มีความต้านทานโมเมนต์ระดับดินตั้งแต่ 3,590 กิโลกรัมขึ้นไป สำหรับรุ่นใหม่จะมีสายดินแบบลวดตีเกลียว 25 ตมม. ฝังอยู่ในเสาแล้วเรียบร้อย พร้อมติดตั้ง
  • เสาไฟฟ้าคอนกรีต 22 เมตร เหมาะกับการจ่ายไฟฟ้าสูงขนาด 115 KV มีสายดินแบบลวดตีเกลียว 35 มม. ยาว 2 เมตร ฝังอยู่ในเสาแล้วเรียบร้อย พร้อมติดตั้ง
  1. เสาไฟฟ้าแบบโครงเหล็ก

เสาไฟฟ้าแบบโครงเหล็ก

เสาไฟฟ้าประเภทนี้มีส่วนประกอบหลัก คือ ฐานราก ขาต่าง ส่วนต่อ ส่วนกลาง ส่วนยอด

  • ฐานราก – มีแบบแท่นตรง แบบฐานแผ่ และแบบเสาเข็ม
  • ขาต่าง – ใช้เมื่อมีการตั้งเสาในพื้นที่ต่างระดับ เช่น เนินเขา ไหล่เขา เป็นต้น เพื่อให้ขาเสามีขนาดเท่ากันทั้ง 4 ขา
  • ส่วนต่อ – เพื่อให้เสามีขนาดสูงขึ้นกว่าเดิม
  • ส่วนกลาง – เป็นลำตัวของเสาที่ต่อขึ้นมาจากฐานราก
  • ส่วนยอด – ส่วนปลายที่จะติดตั้งถ้วยแขวนสำหรับพาดสายไฟแรงสูง

บนเสาไฟฟ้ามีสายไฟอะไรบ้าง ?

บนเสาไฟฟ้ามีสายไฟอะไรบ้าง ?

  1. สายที่อยู่แถวบนสุด คือ สายไฟฟ้าแรงสูง 22,000 – 33,000 โวลต์ มักติดตั้งอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 10 เมตร
  2. สายแถวกลาง คือ สายไฟฟ้าแรงต่ำ 230 หรือ 400 โวลต์ อยู่สูงจากพื้นในระดับ 8 เมตร เป็นสายไฟที่โยงเพื่อจ่ายไฟเข้าบ้าน
  3. สายแถวล่างสุด คือ สายสื่อสาร อยู่สูงจากพื้นในระดับ 5-5.50 เมตร เป็นสายหลาย ๆ เส้นขดกันจำนวนมาก ประกอบด้วย สายออพติกไฟเบอร์หรือสายอินเทอร์เน็ต, สายเคเบิลโทรศัพท์, สายเคเบิลทีวี, สายควบคุมสัญญาณจราจร และสายสื่อสารกล้องวงจรปิด เป็นต้น

ข้อสังเกตเสาไฟฟ้าของ PEA

ข้อสังเกตเสาไฟฟ้าของ PEA ต้องสลักคำว่า PEA เหมือนในภาพ

ข้อควรรู้สำหรับสายไฟฟ้าแรงสูง

เพราะการใช้ไฟฟ้าแรงสูง เป็นระบบไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าสูงกว่า 1,000 V ขึ้นไป เพื่อให้สามารถส่งกระแสไฟฟ้าไปให้ถึงระยะทางไกลได้อย่างเต็มศักยภาพ แต่ด้วยความที่มีแรงดันไฟฟ้าสูงมากกว่าที่ใช้กันตามครัวเรือน จึงมีโอกาสที่ไฟฟ้าแรงสูงจะกระโดดข้ามอากาศเข้าหาวัตถุต่าง ๆ หรือพวกสิ่งมีชีวิตได้ ยิ่งไฟฟ้ามีแรงดันสูงมากเท่าไหร่ก็ยิ่งกระโดดข้ามได้ไกลมากเท่านั้น ซึ่งอันตรายจากไฟฟ้าแรงสูงมักได้รับบาดเจ็บ ไปจนถึงทุพพลภาพ และเสียชีวิตได้

สายไฟแบบไหน คือ สายไฟฟ้าแรงสูง

สายไฟฟ้าแรงสูงมักมีลักษณะเหมือนชามคว่ำ เนื่องจากเป็นการป้องกันไม่ให้ไฟฟ้าแรงสูงกระโดดข้ามได้ง่ายด้วยการยึดสายไฟไว้กับฉนวนไฟฟ้า ทำจากกระเบื้องที่เคลือบหลายชั้น ยิ่งมีถ้วยมาก แรงดันไฟฟ้ายิ่งสูง

อีกหนึ่งวิธีที่ใช้สังเกตได้คือ อ่านป้ายระดับความสูงของสายไฟ โดยทั่วไปแล้วสายไฟฟ้าจะตั้งห่างจากพื้นดินประมาณ 9 เมตร หากอยู่สูงเกินกว่านั้นแสดงว่ามีแรงดันไฟฟ้าที่สูงกว่าปกติ

ทั้งนี้ หากพบเห็นสายไฟฟ้าชำรุด ควรหลีกเลี่ยงไม่เข้าใกล้และแจ้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ หรือโทร. 1129 PEA Contact Center หากเป็นสายสื่อสารโทรคมนาคมสามารถแจ้งได้ที่ กสทช. โทร. 1200 ได้เลย

ที่มา: mea
pea