• 160 Views
  • Oct 21, 2021
  • 3 mins read

จริงหรือไม่? ใช้โทรศัพท์แล้วเสี่ยงถูกฟ้าผ่าเพราะเป็นสายล่อฟ้า

ความเชื่อเป็นสิ่งที่อยู่กับคนไทยมาอย่างช้านาน ถูกส่งต่อมารุ่นต่อรุ่น บ้างก็มาจากความจริง บ้างก็มาจากความเข้าใจผิดที่ถูกส่งต่อมาเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับความเชื่อแสนคุ้นหูที่ว่า ‘ห้ามใช้โทรศัพท์ตอนฝนตกไม่งั้นจะโดนฟ้าผ่า’

ความเชื่อนี้คงไม่มีใครกล้าไม่พิสูจน์ข้อเท็จจริงมากนัก เพราะเท่ากับว่าเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยง สู้ทำตามที่เขาว่ากันมาน่าจะปลอดภัยกว่า

เซฟไทยเลยมาขอบอกข้อพิสูจน์ที่มีอยู่ตอนนี้ให้ทราบกัน เพื่อเป็นการอัพเดตความรู้รอบตัวไปในตัวกันนะครับ

 

มาเริ่มกันที่ความหมายของ ‘สายล่อฟ้า’

หากลองสังเกตุตามบ้านเรือนและอาคารต่าง ๆ จะเห็นว่าบางแห่งได้ติดตั้งแท่งที่มีลักษณะเรียวแหลมไว้ด้วย นั่นก็คือ ‘สายล่อฟ้า’ นั่นเองครับ สายล่อฟ้าเป็นแนวความคิดที่เกิดขึ้นจากบุคคลที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่าง เบนจามิน แฟรงคลิน

หลักการทำงานของสายล่อฟ้าก็ตามชื่อเรียก โดยที่จะทำการล่อให้สายฟ้ามาที่ตัวล่อให้ส่งต่อลงไปยังดิน ซึ่งจะเป็นการลดการเกิดอันตรายต่อสิ่งรอบข้างได้ ทั้งคน สัตว์ และสิ่งของ ซึ่งจะให้มีแต่แท่งล่อก็คงไม่สามารถทำงานได้ ยังต้องมีส่วนประกอบอื่น ๆ ที่จะทำให้การนำพากระแสไฟลงดินด้วย เช่น ตัวล่อ และ ระบบรากสายดิน

พอรู้ความหมายเบื้องต้นแล้ว ก็มาดูข้อพิสูจน์กันบ้างดีกว่า

ดร.คมสัน เพ็ชรรักษ์ หัวหน้าห้องจำลองฟ้าผ่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า
“โทรศัพท์มือถือไม่ได้ถูกนับว่าเป็นสื่อล่อฟ้า เพราะเวลาใช้งานจะอยู่ต่ำกว่าตัวคน และพลังงานของสัญญาณโทรศัพท์มือถือไม่สามารถทำให้อากาศแตกตัวเป็นตัวนำ ได้”

และได้มีการทดลองเกิดขึ้น โดยการนำเอาโทรศัพท์ที่อยู่ในสภาพที่แตกต่างกันทั้ง 3 รูปแบบมาทดลอง ดังนี้

๐ โทรศัพท์ที่ปิดเครื่อง
๐ โทรศัพท์ที่เปิดเครื่องพร้อมสายเรียกเข้า
๐ โทรศัพท์ที่เปิดเครื่องพร้อมสายเรียกเข้าและระบบรับสายอัตโนมัติ

ผลปรากฎคือไม่มีโทรศัพท์เครื่องไหนที่โดนฟ้าผ่าเลย แต่เมื่อเกิดฝนฟ้าคะนอง ก็ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง และระมัดระวังการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านด้วยเช่นเดียวกัน ถ้าต้องออกไปข้างนอกบ่อย ๆ ก็ควรมองหา วิธีรับมือเมื่อต้องเจอฝนฟ้าคะนองในที่โล่งแจ้ง ไว้เผื่อนะครับ

แล้วเครื่องประดับต่าง ๆ นำไฟฟ้าด้วยหรือไม่?

เครื่องประดับก็เหมือนโทรศัพท์ที่ไม่ได้เป็นสายล่อฟ้า John Jensenius ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไฟฟ้าได้กล่าวไว้ว่า “โทรศัพท์มือถือ วัตถุโลหะชิ้นเล็ก เครื่องประดับ และอื่น ๆ ไม่ได้ล่อฟ้าผ่า ไม่มีอะไรล่อฟ้าผ่า แต่ฟ้าผ่ามีแนวโน้มจะเกิดขึ้นกับวัตุที่มีความสูงกว่า ”

อย่างไรก็ตามการใส่เครื่องประดับอาจทำให้ได้รับอันตรายเพิ่มขึ้นได้ในกรณีที่เกิดการเหนี่ยวนำนะครับ

 

ฝนตกบ่อย ๆ แบบนี้ อย่าลืมรักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ

ด้วยความปรารถนาดีจากเซฟไทย

ที่มา : สวทช

ที่มา : the news minute

ที่มา : National Weather Service

ที่มา : AMTA

ที่มา : Kumwell Corporation PLC.