• 169 Views
  • Aug 04, 2023
  • 10 mins read

ข้อควรรู้ หากติดโซลาร์เซลล์แล้วอยากขายไฟคืน ต้องทำอย่างไร?

การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ไว้ใช้ในครัวเรือน มีให้เลือกหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น โซลาร์เซลล์ระบบ On Grid, โซลาร์เซลล์ระบบ Off Grid และโซลาร์เซลล์ระบบ Hybrid ซึ่งบ้านใครที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ระบบ On Grid รู้หรือไม่ว่า… นอกจากที่เราจะได้ใช้ไฟฟ้าโดยไม่เสียค่าไฟแล้ว ยังสามารถนำพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการใช้งาน มาขายคืนให้กับการไฟฟ้าได้ด้วย ตามเซฟไทยมาดูกันเลยว่าต้องทำอย่างไรบ้าง

คุณสมบัติขายไฟคืนจากโซลาร์เซลล์

คุณสมบัติที่ผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ต้องมี สำหรับการขายไฟคืน

  1. ประเภทของที่อยู่อาศัยที่ติดโซลาร์เซลล์

ต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ากับการไฟฟ้า เป็นประเภทบ้านอยู่อาศัย ประเภทที่ 1 ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 10 kWp (กิโลวัตต์) แล้วติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง สามารถนำไฟฟ้าส่วนเกินมาขายคืนให้การไฟฟ้าได้ อัตรา 2.2 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี

  1. ตรวจสอบชื่อเจ้าของเครื่องหน่วยวัดไฟฟ้า

เมื่อติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แล้วอยากขายไฟคืน ผู้ที่ยื่นเรื่องต่อการไฟฟ้าจะต้องเป็นเจ้าของเครื่องหน่วยวัดไฟฟ้า หรือมีชื่ออยู่ในบิลค่าไฟ ซึ่งจะต้องเป็นชื่อเดียวกัน ในกรณีที่เจ้าของบ้านคนเดิมถึงแก่ความตาย หรือเกิดการซื้อขายบ้าน ต้องยื่นเรื่องดำเนินการแก้ไขชื่อเจ้าของให้ถูกต้องเสียก่อน

ข้อจำกัดในการขายไฟคืน

ข้อจำกัดในการขายไฟคืน

  • สำหรับการใช้ไฟฟ้าระบบ 1 เฟส หรือ 220V สามารถยื่นติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ รวมกันได้ไม่เกิน 5 kWp (กิโลวัตต์) ต่อราย
  • สำหรับการใช้ไฟฟ้าระบบ 3 เฟส หรือ 220/380V สามารถยื่นติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ รวมกันได้ไม่เกิน 10 kWp (กิโลวัตต์) ต่อราย

การยื่นเรื่องเพื่อขายไฟคืนจากโซลาร์เซลล์ จะมีการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า ซึ่งมีค่าใช้จ่าย 8,500 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และไม่ใช่ค่าใช้จ่ายสำหรับติดตั้งระบบ Solar PV Rooftop)

ขั้นตอนการยื่นแบบคำขอขายไฟฟ้าคืนจากโซลาร์เซลล์

ขั้นตอนการยื่นแบบคำขอขายไฟฟ้าคืนจากโซลาร์เซลล์

ก่อนที่เราจะสามารถขายไฟจากโซลาร์เซลล์คืนให้การไฟฟ้าได้จะต้องผ่านขั้นตอนการยื่นแบบ ดังนี้

  1. สามารถดำเนินการยื่นแบบคำขอสำหรับการขายไฟฟ้าคืนจากโซลาร์เซลล์ ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ โดยผู้ยื่นคำขอที่เป็นเจ้าของ หรือผู้จำหน่ายระบบโซลาร์เซลล์ที่ได้รับมอบอำนาจจะต้องเป็นผู้อัปโหลดเอกสาร

โดยลงทะเบียนดำเนินการได้ที่ https://ppim.pea.co.th/ หรือ https://myenergy.mea.or.th/

  1. เมื่ออัปโหลดเอกสารเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นจะเป็นการรอทางการไฟฟ้าพิจารณาแบบคำขอในการขายไฟคืน ระยะเวลาประมาณ 7 – 10 วันทำการ
  2. ระหว่างรอการไฟฟ้าดำเนินการแจ้งผล จะมีการตรวจสอบ Capacity หรือขนาดพิกัดสูงสุดของหม้อแปลง ว่าสามารถรับกำลังผลิตของระบบโซลาร์เซลล์ได้หรือไม่
  3. ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ยื่นแบบคำขอ จนถึงการประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก รวมแล้วใช้เวลาประมาณ 1 เดือน
  4. หลังจากประกาศรายชื่อผู้ที่สามารถขายไฟคืนจากโซลาร์เซลล์ได้ จะมีการชำระค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า ราคา 8,500 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และไม่ใช่ค่าใช้จ่ายสำหรับติดตั้งระบบ Solar PV Rooftop) พร้อมลงนานซื้อขายไฟฟ้า

ทั้งนี้ การชำระค่าใช้จ่ายสำหรับการขอขายไฟคืนให้การไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ สามารถชำระค่าบริการได้ที่ สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่ประจำท้องที่ที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์

  1. จะมีการนัดหมายเพื่อตรวจสอบระบบผลิตไฟฟ้า และทดสอบการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้า รวมถึงกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD)

ข้อมูลรายละเอียดและเอกสารที่ต้องแนบในการยื่นแบบคำขอขายไฟฟ้า มีดังนี้

  • ข้อมูลเครื่องมือวัด
  • ข้อมูลผู้ขอใช้บริการ
  • ข้อมูลแผงโฟโตโวลตาอิก (แผงโซลาร์เซลล์)
  • ข้อมูลระบบอินเวอร์เตอร์
  • เอกสารประกอบต่าง ๆ ประกอบการพิจารณา เช่น
    สำเนาบัตรประชาชนเจ้าของเครื่องวัดฯ หากเป็นนิติบุคคลต้องแนบหนังสือรับรองนิติบุคคลด้วย
    สำเนาค่าไฟฟ้าของอาคารที่ติดตั้งแผง
    เอกสารแสดงรายละเอียดของแผงโซลาร์เซลล์
    แผนผังแสดงที่ตั้งของสถานที่ติดตั้งแผง
    แผนภูมิระบบไฟฟ้าที่ผ่านการรับรองโดยวิศวกร
    สำเนาบัตรประชาชนผู้ประกอบอาชีพวิศวกร ที่ยังไม่หมดอายุ
    เอกสารแสดงรายละเอียดของระบบอินเวอร์เตอร์
    รูปถ่ายบ้านที่อยู่อาศัย หรืออาคารที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์
    *หากมอบอำนาจให้บริษัทรับติดตั้งดำเนินการแทน ต้องมีหนังสือมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ 30 บาท พร้อมสำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ

สำหรับใครที่กำลังศึกษาข้อมูลเพื่อตัดสินใจว่าจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่บ้านดีหรือไม่ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คนทำบ้านควรรู้! ก่อนตัดสินใจติดโซลาร์เซลล์ต้องดูอะไรบ้าง

การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ประเภท On Grid ที่สามารถขายไฟคืนให้การไฟฟ้าได้ มีขั้นตอนการดำเนินงานที่ค่อนข้างใช้เวลา และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม จึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลข้อจำกัดให้เข้าใจเสียก่อน เพื่อคำนวนว่าความจริงแล้วคุ้มค่าหรือไม่ที่จะดำเนินการเพื่อขอขายไฟคืน

ที่มา: changfi

solartech-center

powercreation

scb