• 499 Views
  • Mar 28, 2023
  • 2 mins read

ข้อควรรู้ของเหตุการณ์ไฟดูด ป้องกันให้ปลอดภัยอย่างถูกต้องได้ง่าย ๆ

หากพูดถึงอุบัติเหตุภายในบ้านที่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายและบ่อยมากที่สุด คงหนีไม่พ้น ‘ไฟดูด’ เหตุการณ์อันตรายที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและสุขภาพ โดยเฉพาะกับเด็กเล็กที่มีโอกาสพลาดโดนไฟดูดได้ง่าย วันนี้เซฟไทยจะพาไปดูกันว่าสาเหตุไฟดูดเกิดจากอะไร เพื่อเตรียมการป้องกันได้อย่างปลอดภัย

ไฟดูด คืออะไร

ไฟดูด

ไฟดูด มักเกิดมาจากกระแสไฟฟ้ารั่วของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชำรุด เมื่อเราไปสัมผัสเข้ากระแสไฟฟ้าก็จะไหลเข้าร่างกายเรา หรืออาจจะเกิดจากไปสัมผัสกับสายไฟที่มีกระแสไฟฟ้ารั่ว ส่งผลทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อเกร็ง หัวใจทำงานผิดจังหวะหรือเต้นอ่อนลง

สิ่งที่ควรทำเมื่อเกิดเหตุไฟดูด คือ ตัดกระแสไฟฟ้าทันที ถอดปลั๊ก ปิดเมนสวิตช์ ปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วพาผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลทันที

ส่วนไฟรั่วจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากวงจรไฟฟ้ามีกระแสไฟรั่วไหลไปที่ผิวสายไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า สาเหตุของไฟรั่วมีทั้งเดินสายไฟไม่ดี อุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐานหรือฉนวนอุปกรณ์ไฟฟ้าเสื่อมสภาพ และไฟช็อต นั่นหมายถึงไฟฟ้าที่ไหลผ่านสายไฟไปยังอีกเส้นหนึ่งโดยไม่ผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้าใด ๆ มักเกิดจากฉนวนสายไฟชำรุดหรือเผลอสัมผัสกัน จึงอาจเป็นสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ได้

เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดอันตรายจากไฟดูด เรามาเตรียมตรวจสอบไฟฟ้าไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไฟดูดกันเลย โดยทำตามได้ง่าย ๆ ดังนี้

ข้อควรปฏิบัติและตรวจสอบเพื่อป้องกันไฟดูด

ข้อควรปฏิบัติและตรวจสอบเพื่อป้องกันไฟดูด

  1. ควรตรวจสอบมิเตอร์ไฟฟ้า

หนึ่งในการป้องกันเหตุไฟดูด แนะนำให้ตรวจสอบมิเตอร์ไฟฟ้า ก่อนอื่นต้องถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกให้หมด ปิดสวิตช์ไฟทุกดวง หลังจากนั้นให้ดูที่มิเตอร์ไฟฟ้าว่าเฟืองเหล็กยังหมุนอยู่หรือไม่ หากยังหมุนอยู่หมายความว่าพบการรั่วของกระแสไฟฟ้า และที่สำคัญคือ ควรเช็กเครื่องตัดไฟรั่วด้วยว่ายังทำงานปกติดีไหม แนะนำให้หมั่นเช็กเป็นประจำทุก 1-3 เดือน หากยังใช้งานได้ดีจะเห็นว่าคันโยกจะตกลงมาเพื่อตัดกระแสไฟฟ้าทันที

  1. เช็กการชำรุดของเครื่องใช้ไฟฟ้า

เนื่องจากสาเหตุของไฟดูดสามารถมาจากการชำรุดของเครื่องใช้ไฟฟ้าได้เราจึงควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อนว่ามีกระแสไฟฟ้ารั่วหรือไม่ ด้วยเครื่องมือไขควงวัดไฟ นำไปแตะที่เครื่องใช้ไฟฟ้าในส่วนที่เป็นโลหะ หากไฟติดแสดงว่ามีไฟรั่วเกิดขึ้น ควรหยุดใช้งานทันที และเรียกช่างผู้ชำนาญการมาดู พร้อมตรวจสอบการติดตั้งสายดินให้ปลอดภัย

  1. ตรวจสอบเต้ารับไฟฟ้า

การตรวจสอบเต้ารับไฟฟ้าสามารถใช้ไขควงวัดไฟทดสอบดูได้ หากพบว่าที่เต้ารับหลวมหรือมีรอยแตกร้าว รอยไหม้ ควรทำการซ่อมแซมทันที เช่น เต้ารับหลวมให้ขันสกรูให้แน่น ถ้าเต้ารับมีรอยร้าวควรเปลี่ยนใหม่ เป็นต้น

  1. เช็กสายไฟฟ้าให้ใช้การได้ดี

สายไฟฟ้า เป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันเหตุไฟดูดได้ จึงควรหมั่นตรวจสอบเป็นระยะ โดยเฉพาะสายไฟที่ซ่อนอยู่ใต้ฝ้าเพดานที่มีโอกาสสูงในการชำรุด เพราะอยู่ในที่ลับตาและเมื่อใช้งานไปนาน ๆ อาจมีสัตว์ตัวเล็กไปกัดสายไฟให้ฉนวนขาดได้ ถ้าพบว่าชำรุดควรเปลี่ยนใหม่ทันทีและแนะนำให้หุ้มสายด้วยท่อร้อยสายไฟ

เหตุการณ์ไฟดูดมักจะน่าเป็นกังวลในเด็กเล็ก เพราะพฤติกรรมที่อยากเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เสี่ยงต่อการโดนไฟดูด ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดจึงควรระวังเป็นพิเศษในบริเวณปลั๊กไฟ สายไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากเด็ก ๆ อาจเผลอเอานิ้วไปแหย่ สัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้า ปลั๊กไฟขณะร่างกายเปียก หรือเอาสายไฟเข้าปากได้

ป้องกันเหตุการณ์ไฟดูดจากเด็กอย่างไรให้ปลอดภัย

ป้องกันเหตุการณ์ไฟดูดจากเด็กอย่างไรให้ปลอดภัย

  • ตรวจสอบปลั๊กไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านให้ใช้งานได้ตามปกติ คงสภาพสมบูรณ์เสมอ หากชำรุดควรซ่อมทันทีหรือเก็บให้พ้นมือเด็ก
  • สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เก็บสายไฟให้เป็นที่เป็นทาง อะไรที่เป็นอันตรายเก็บให้ไกลมือเด็ก
  • เลือกปลั๊กกราวด์และปลั๊กพ่วงที่มีม่านนิรภัย เพื่อป้องกันเด็กสัมผัส
  • สังเกตพฤติกรรมเด็กเสมอ และควรสอนถึงอันตรายของไฟฟ้า หากทำแบบนี้จะโดนไฟดูดได้

เห็นไหมว่าเหตุการณ์ไฟดูดเป็นเหตุการณ์ที่เราสามารถเตรียมการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ด้วยการหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าให้คงสภาพสมบูรณ์เพื่อให้ปลอดภัยในการใช้งานอยู่เสมอ ที่สำคัญ ควรเรียนรู้การใช้ไฟฟ้าที่ปลอดภัยอย่างถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยของทั้งผู้ถูกไฟดูดและผู้ให้ความช่วยเหลือ

ที่มา: si.mahidol.ac.th

สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)